ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ในจังหวัดขอนแก่น
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการดำเนินงานทอผ้าไหมมัดหมี่ และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ในจังหวัดขอนแก่น โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง ๓๓๑ คน เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์คือค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจวิธี Principal Component Analysis และใช้วิธีหมุนแกนออโธโกนอลแบบวาริแมกซ์ (Varimax Orthogonal Rotation) ค่าสัมประสิทธิ์คะแนนองค์ประกอบ (Factor Score Coefficients) ตั้งแต่ ๐.๓๕ ขึ้นไป
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพทั่วไปในการดำเนินงานทอผ้าไหมมัดหมี่ของผู้ทอผ้าไหมและทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมในจังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่เลือกใช้เส้นไหมจากผู้ผลิตเส้นไหมในชุมชน ไหมที่ใช้เป็นไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ลายมัดหมี่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ การมัดหมี่และย้อมสีจะทำด้วยตนเอง ใช้สีเคมีในการย้อมเส้นไหม ประสบการณ์ในการทอผ้าไหมมัดหมี่มากกว่า ๑๐ ปี ลายผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอเป็นลวดลายพืชพันธุ์ดอกไม้ ขั้นตอนที่ชำนาญที่สุดคือการทอลวดลายผ้า ในการทำผ้าไหมมัดหมี่จะมีการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งกลุ่ม ผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอได้จะมีไว้เพื่อขายและใช้ในครัวเรือน ส่วนการถ่ายทอดความรู้การทอผ้าไหมมัดหมี่จะใช้วิธีการถ่ายทอดโดยการช่วยฝึกให้ทำ
๒. ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ในจังหวัดขอนแก่น โดยภาพรวมมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมาก ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มผู้ทอผ้าไหมมัดหมี่ในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ การใช้เส้นไหมอย่างคุ้มค่า เส้นไหมมีเพียงพอในการทอ เส้นไหมมีคุณภาพตามที่ต้องการ การจัดหาเส้นไหมทดแทนเมื่อเส้นไหมมีไม่เพียงพอ การใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำผ้าไหมมัดหมี่ การฝึกอบรมพัฒนาความรู้ในการทอผ้าไหมมัดหมี่ การควบคุมสินค้าคงเหลือ ค่าตอบแทนมีความเหมาะสม วัสดุอุปกรณ์ในการย้อมสีผ้าไหมมัดหมี่มีความเพียงพอ ความชำนาญในการย้อมสี เทคนิคการทอลวดลายของผ้าไหมมัดหมี่ ความรู้ในเรื่องสี การย้อมสีผ้าไหมมัดหมี่ วัสดุอุปกรณ์หาได้ง่ายในท้องถิ่นและความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ ผู้ทอผ้าไหมและทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมในจังหวัดขอนแก่นควรมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจน เพื่อสามารถบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ควรมีการลงทุนเพิ่มเติมโดยการรวบรวมทุนจากกลุ่ม หรือการจัดหาแหล่งเงินทุน เช่น จากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ