ผลกระทบการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารงานบุคคล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Main Article Content
Abstract
การศึกษาผลกระทบจากการทุจริตประพฤติมิชอบ และแนวทางแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารงานบุคคลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากกรณีศึกษาคำพิพากษาศาลปกครอง มติชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน ๒๗ คน และการสนทนากลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเป้าหมายคือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลกระทบจากการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกเป็น ๓ ด้านคือ ๑) ผลกระทบต่อองค์กร เป็นการสูญเสียงบประมาณเพื่อแลกกับการได้บุคลากรที่ไม่มีความรู้ความสามารถ เกิดปัญหาภาวะคนล้นงาน เกิดภาวะความขัดแย้งในองค์กรระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นและพนักงานส่วนท้องถิ่น กลายเป็นวัฒนธรรมและภาพลักษณ์องค์กรที่ผิดในการยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นเรื่องธรรมดา ๒) ผลกระทบต่อพนักงานส่วนท้องถิ่น ทำให้ขาดความก้าวหน้า รายได้และค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและหนี้สิน ส่งผลต่อภาวะความเครียด ขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ขาดความทุ่มเท ขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน ขาดการพัฒนาตนเอง ขาดความจงรักภักดีต่อองค์กร และสำคัญที่สุดคือนำไปสู่การทุจริตต่อหน้าที่เพื่อให้ได้เงินหรือค่าตอบแทนอื่น และ ๓) ผลกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ขาดการมีส่วนร่วม ขาดความโปร่งใสและความเสมอภาค
๒. แนวทางแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจำเป็นต้องแก้ไขในประเด็นดังต่อไปนี้ ๑) ระบบบริหารงานบุคคล ต้องเน้นหลักการบริหารงานบุคคลเชิงกลยุทธ์ หลักการบริหารงานบุคคลสมรรถนะ หลักการบริหารผลการปฏิบัติงาน การได้มาซึ่งบุคลากร ๒) ระบบคุณภาพชีวิต โดยเน้นที่การให้รางวัลและค่าตอบแทน การเรียนรู้และพัฒนา ความปลอดภัย ความมั่นคง มีความสุข มีความก้าวหน้า และ ๓) ระบบภูมิคุ้มกัน โดยใช้หลักคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยความเสมอภาค ความเป็นกลาง ความมั่นคงและความสามารถ หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ มีคุณธรรม หลักธรรมาภิบาล โดยเน้นด้านนิติธรรม ด้านคุณธรรม ด้านความโปร่งใส ด้านการมีส่วนร่วม ด้านความรับผิดชอบ และด้านความคุ้มค่า