กระบวนการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ : กรณีศึกษาหมู่บ้านในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

Main Article Content

ดร.สุรพล พรมกุล
ผศ.ดร.วิทยา ทองดี
ดร.สุนทร สายคำ

Abstract

 

บทคัดย่อ

      การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค และปัจจัยขับเคลื่อนการอยู่ร่วมกันของชุมชน ๒) เพื่อศึกษาองค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน ของชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ๓) เพื่อเสนอแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่เหมาะสมในแต่ละภาคประชากรที่ใช้  ในการวิจัยคือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีลใน ๔ จังหวัดคือ จังหวัดลำพูน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดลพบุรี จังหวัดกระบี่ จำนวน ๒๐ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้เป็น แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

        ผลการวิจัยพบว่า

      ๑. ปัญหาอุปสรรคการอยู่ร่วมกันของชุมชนในภาคเหนือที่บ้านห้วยต้น อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พบปัญหาภายในคือ ๑) ชาวบ้านขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นปัจจุบัน ๒) ผลิตภัณฑ์ผ้าของกลุ่มมีรูปแบบไม่หลากหลาย ๓) การแปรรูปผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เย็บด้วยมือ อาจมีจุดอ่อนคือไม่คงทนของการเย็บอาจทำให้เสื้อผ้าขาดเร็วกว่าปกติ ๔) สีที่ย้อมผ้าส่วนใหญ่จะเป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ ทำให้มีจุดอ่อนคือ สีผ้าตกง่าย ทำให้ผู้ซื้อไปใช้ไม่พอใจในผลิตภัณฑ์ปัญหาภายนอก ๑) การเอารัดเอาเปรียบชาวบ้านด้านการท่องเที่ยวจากผู้หวังประโยชน์ ๒) การเอารัดเอาเปรียบด้านการซื้อขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องเงินด้วยการกดราคาทำให้ไม่ได้ราคาที่น่าพอใจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บ้านเสียว ตำบลวังชัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พบว่า ๑) ชาวบ้านบางคนยังไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาหมู่บ้าน จึงไม่สนใจการจัดกิจกรรมใดๆ อีกทั้งยังมีการชักชวนให้คนอื่นเข้าร่วมแนวคิดของตน ๒) การจัดกิจกรรมบ่อยทำให้ประสิทธิภาพการจัดงานลดลง เนื่องจากบ้านเสียวเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาหลายด้านของจังหวัด จึงมีการจัดกิจกรรมบ่อยภาคกลาง ที่หมู่บ้านทุ่งท่าช้าง ตำบลทุ่งท่าช้าง อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรีพบว่า ๑) ปัญหาการทะเลาวิวาทของชาวบ้าน ในอดีตนั้นรุนแรงมาก ต่อมาเมื่อมีการจัดกิจกรรมสวดมนต์เย็นทุกวันอาทิตย์จึงช่วยได้ ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ๒) ปัญหายาเสพติด (ยาบ้า) จะมีคนจากถิ่นอื่นที่มารับจ้างทำนาในหมู่บ้านนำยาเสพติดเข้ามาโดยเฉพาะในช่วงเก็บเกี่ยวจะมีค่อนข้างมาก ภาคใต้ที่บ้านลำทับ ตำบลลำทับ อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ พบว่า ๑) ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ๒) ปัญหายาเสพติด (ยาบ้า) ที่ระบาดในชุมชน

     ๒. องค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ มีองค์ประกอบหลักคือ ด้านปัจจัยสี่ ด้านประเพณีท้องถิ่น และด้านศาสนาผลการศึกษาในแต่ละภาคพบว่า ภาคเหนือ มีองค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนคือ ปัจจัยสี่ ประเพณีท้องถิ่นคือประเพณีตักบาตรผักทุกวันพระ ประเพณีเปลี่ยนผ้าครองครูบาชัยยะวงศาพัฒนา และด้านศาสนาคือการปฏิบัติตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีองค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชน คือ ปัจจัยสี่ มีประเพณีท้องถิ่น คือ ๑) การทำบุญประจำ ๑๒ เดือนหรือประเพณีฮีต ๑๒ ๒) ประเพณีตักบาตรทุกวัน ๓) ฟังพระธรรมเทศนาตลอดพรรษา ๔) ประเพณีพ่อค้ำ แม่ค้ำมีการจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาคือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาภาคกลางมีองค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชน คือ ปัจจัยสี่ ประเพณีท้องถิ่น คือ ประเพณีสงกรานต์ กิจกรรมด้านศาสนา คือ ๑) การสวดมนต์ข้ามปี ๒) กิจกรรมสวดมนต์ทุกวันอาทิตย์พิชิตมาร ภาคใต้มีองค์ประกอบของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชน คือ ปัจจัยสี่ และประเพณีท้องถิ่น คือ ประเพณีสารทไทย งานชิงเปรต

     ๓. แนวทางการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ คือประชาชนต้องมีศรัทธา การประกอบกิจกรรม กัลยาณมิตร การแบ่งปัน และมีปัญญา

Article Details

How to Cite
พรมกุล ด., ทองดี ผ., & สายคำ ด. (2016). กระบวนการสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของชุมชนตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ : กรณีศึกษาหมู่บ้านในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้. Dhammathas Academic Journal, 16(3), 43–50. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/dhammathas/article/view/79726
Section
บทความวิจัย (Research Article)