พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่มีต่อชนชั้นล่าง
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่มีต่อชนชั้นล่าง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องวรรณะและสถานภาพทางสังคมของชนชั้นล่างสมัยพุทธกาล พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่มีต่อชนชั้นล่าง และเสนอแนวทางการประยุกต์พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่มีต่อการสร้างความปรองดองและความสามัคคี
ผลการวิจัยพบว่า
๑. แนวคิดเรื่องระบบวรรณะในสังคมอินเดียเกิดจากการวิวัฒนาการทางสังคมที่ใช้วิธีตั้งชุมชนขึ้นมาต่างหาก มีการนับถือโคตรตามตระกูลของพราหมณ์ เบื้องหลังของระบบวรรณะคือแนวคิดการเหยียดสีผิว (Racism) ที่พวกอารยันใช้ในการปกครองพวกคนพื้นเมืองคือ ดราวิเดียน เพื่อกีดกันความบริสุทธิ์แห่งเชื้อสายของตนไม่ให้พวกดราวิเดียนเข้ามามีโอกาสผสมกลมกลืนกับเผ่าพันธุ์ของตน โดยอาศัยความเชื่อในศาสนาพราหมณ์เป็นเครื่องมือบีบบังคับระบบวรรณะให้ศักดิ์สิทธิ์ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุการณ์การแบ่งชนชั้นวรรณะว่าเป็นการแบ่งตามหน้าที่ ใครทำหน้าที่อะไรก็แบ่งกันไปตามประเภทนั้น ในชั้นแรกเป็นการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ (Division of labour) แบบค่อยเป็นค่อยไป มีความยืดหยุ่นไม่เข้มงวด แต่ต่อมาได้เสื่อมความหมายเดิม กลายเป็นประเพณีที่ถือกันแบบเถรส่องบาตร วรรณะสูงเอารัดเอาเปรียบ เหยียดหยามและเหยียบย่ำวรรณะต่ำ สถานภาพคนชั้นล่างในอินเดียสมัยพุทธกาลสามารถจำแนกตามวรรณะและตามตระกูล มีระบบความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะอย่างชัดเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อการแยกวิถีชีวิตให้ต่างกันอย่างชัดเจน แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตัดสินหรือให้คุณค่าดีเลวของคนด้วยชาติกำเนิด แต่ทรงใช้กรรมเป็นเกณฑ์ตัดสิน คนจะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับการกระทำ มิใช่เพราะตระกูล ทรงสอนเรื่องกฎแห่งกรรมที่ส่งผลให้เกิดพ้นจากความเป็นคนมีวรรณะต่ำ
๒. พระองค์ทรงมีพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างแห่งความเป็นผู้มีบุญญาธิการที่สั่งสมไว้ดีแล้ว จึงมีพระบุคลิกภาพเป็นเลิศ เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีหลักพุทธวิธีการสอนธรรมะชนชั้นล่างอย่างหลากหลาย ทรงเปิดโอกาสให้ทุกชั้นวรรณะสามารถเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มีสิทธิในการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเท่าเทียมกัน ทรงยกย่องพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้พัฒนาตนเองขึ้นสู่ระดับโลกุตรธรรมได้ พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้ามีผลต่อการปฏิรูประบบวรรณะและเป็นที่ยอมรับของทุกชนชั้นในสมัยพุทธกาลได้เป็นอย่างดี พระพุทธศาสนาส่งเสริมให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบวรรณะ ไม่มีอธิศูทร มองเห็นโทษว่าการมีชนชั้นวรรณะเป็นความบกพร่องและความรุนแรงทางโครงสร้างสังคม (Socially Structural Violence) สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมและส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง เป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งและการเอารัดเอาเปรียบกัน และสร้างความไม่เสมอภาคทางชนชั้น ทางเพศ การศึกษา ทางศาสนา ดังกรณีพระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ศากยวงศ์ในสมัยพุทธกาลได้สะท้อนให้เห็นภัยและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธศาสนาจึงได้ให้โอกาสทุกคนได้รับการศึกษาและการปฏิบัติต่อกันตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอนเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินดีชั่วให้มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในตนเอง สามารถบรรลุธรรมตามความดีงามสูงสุดได้ทั้งในระดับกฎธรรมชาติและความจริงตามธรรมชาติ
๓. เมื่อศึกษาพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าแล้ว สามารถนำแนวคิดและวิธีการดังกล่าวมาจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมและการสร้างความปรองดองและความสามัคคีได้ตามหลักการทางพระพุทธศาสนา คือ การให้สิทธิเสรีภาพและการสร้างความเสมอภาคในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สิทธิทางโอกาสทางสังคมและการดำรงชีพ สิทธิทางกฎหมาย สิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง การสร้างระบบการพึ่งพาอาศัยกัน การรู้จักเคารพสิทธิส่วนบุคคลและยึดหลักสามัคคีธรรมในการอยู่ร่วมกัน มีหลักธรรมขั้นพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนในการอยู่ร่วมกันแบบปราศจากระบบชนชั้นคือหลักสาราณียธรรม ๖ เป็นหลักที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึงกัน กล่าวคือการตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เป็นหลักปฏิบัติตนขั้นพื้นฐาน มีสาธารณโภคี คือการได้ของสิ่งใดมาก็รู้จักแบ่งปันกันโดยชอบธรรม มีสีลสามัญญตา ความประพฤติสุจริตดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย เป็นหลักปฏิบัติขั้นกลาง และทิฏฐิสามัญญตา คือความมีทิฏฐิงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะช่วยขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปได้ หลักธรรมเหล่านี้จึงเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ความกลมกลืนเข้าหากัน เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความสามัคคี และเพื่อความเป็นเอกภาพ สร้างความปรองดองให้ขึ้นในสังคมและประเทศชาติได้ตลอดไป