ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ ที่มารับบริการฝากครรภ์ ที่แผนกเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • อุไรลักษณ์ อุ่นบุญเรือง

คำสำคัญ:

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์สถิติเชิงพรรณนา(Descriptive Statistics)ภาคตัดขวาง (Cross Sectional analytical study) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ ที่แผนกเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลนามน อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558 กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 124 คน สุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา จากผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมานวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Correlation)

          ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง พบว่า หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 18-34 ปี คิดเป็น ร้อยละ 90.3 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการประเมินภาวะความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ ระดับการศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยม จำนวน 84 คน คิดเป็นร้อยละ 67.7  ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 25.8 รองลงมาประกอบอาชีพรับจ้าง จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 24.2 ลักษณะประชากรที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ ระดับการศึกษา มีความสัมพันธ์ทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนอายุ, รายได้ของครอบครัวต่อเดือน และการฝากครรภ์ครั้งแรก มีความสัมพันธ์ทางบวก อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าลำดับครรภ์และอายุครรภ์ปัจจุบัน มีความสัมพันธ์ทางลบ อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทัศนคติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์มีความสัมพันธ์ทางลบกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยเอื้อมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยเสริมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น ควรมีการจัดอบรม ให้ความรู้ ปรับทัศนคติที่ดีต่อการตั้งครรภ์และการฝากครรภ์แก่หญิงตั้งครรภ์และให้สุขศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-30