การพยากรณ์โรคมือ เท้า ปาก จังหวัดสกลนคร ปี 2563
คำสำคัญ:
พยากรณ์โรค, มือ เท้า ปาก, อนุกรมเวลาบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study) และการพยากรณ์การเกิดโรคเชิงปริมาณ เพื่อบรรยายลักษณะทางระบาดวิทยาของการเกิดโรคมือ เท้า ปาก จังหวัดสกลนคร ในปี พ.ศ. 2550 – 2562 และเพื่อพยากรณ์การเกิดโรคมือ เท้า ปาก จังหวัดสกลนคร พ.ศ. 2563 โดยทำการรวบรวมข้อมูลโรคมือ เท้า ปาก จากฐานข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (รายงาน 506) พ.ศ. 2550-2562 วิเคราะห์แนวโน้มของการเกิดโรคตามบุคคล เวลา สถานที่ โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ข้อมูลการพยากรณ์โดยใช้อนุกรมเวลา (time series analysis) แบบ Holt-Winter Multipicative ในโปรแกรม Eview
ผลการศึกษาพบว่า ปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ป่วยตลอดทั้งปี แต่จํานวนผู้ป่วยจะสูงในช่วงต้นปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และหลังจากนั้นจะพบผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยไปจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในแต่ละเดือนต่ำกว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ปี พ.ศ. 2562 และต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี พ.ศ. 2557-2561) ตลอดทั้งปี ถึงแม้ว่าผลการพยากรณ์แต่ละเดือนจะมีจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าจำนวนผู้ป่วย ปี พ.ศ. 2562 และต่ำกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี พ.ศ. 2557-2561) ตลอดทั้งปี แต่ก็ควรจะมีการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน เพราะโรคมือ เท้า ปาก สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ถ้ามาตรการป้องกันควบคุมโรคไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้ นอกจากนี้ควรมีการประเมินระบบเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยและกระตุ้นการรายงานโรคอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ทราบจำนวนผู้ป่วยที่เป็นจริง และทำให้ทราบประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการในพื้นที่ด้วย