ประสิทธิผลของการเคลือบหลุมร่องฟันในนักเรียนประถมศึกษาอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
คำสำคัญ:
นักเรียนประถมศึกษา,, เคลือบหลุมร่องฟัน, การยึดติดสมบูรณ์, การหลุดบางส่วน, การหลุดทั้งหมด, สภาวะฟันผุบทคัดย่อ
การวิจัยภาคตัดขวาง(Cross-sectional research) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการเคลือบหลุมร่องฟันจากการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันและศึกษาความชุกการเกิดฟันผุภายหลังการเคลือบหลุมร่องฟันหกเดือนถึงหนึ่งปี กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นประถมศึกษา อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 300 คน แบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มไม่เคยได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน 150 คน และกลุ่มที่เคยได้รับการเคลือบหลุมร่องฟัน 150 คน เก็บรวบรวมข้อมูลจากการตรวจผลยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันและทบทวนเวชระเบียนแบบตรวจทันตสุขภาพทันตกรรมโรงเรียน เดือน มกราคม–ธันวาคม 2563 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเชิงพหุ (multiple logistic regression)
ผลการวิจัยพบว่านักเรียนประถมศึกษาที่ได้รับการตรวจทันตสุขภาพทั้งหมด 300 คน เพศหญิงร้อยละ 60.67 เพศชายร้อยละ 39.33 อายุเฉลี่ย 9.09±1.31 ปี แบ่งเป็นกลุ่มไม่เคยได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันร้อยละ 50 และกลุ่มที่เคยได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันร้อยละ 50 เมื่อเวลาผ่านไปมากกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี พบการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันสมบูรณ์ร้อยละ 65.36 หลุดบางส่วนร้อยละ 21.04 และ หลุดทั้งหมดร้อยละ 13.59 ของจำนวนฟันที่เคลือบ พบสภาวะฟันกรามแท้ซี่แรกผุในกลุ่มเคลือบหลุมร่องฟัน ร้อยละ 13.78 (74 ซี่) กลุ่มไม่เคลือบหลุมร่องฟัน ร้อยละ 22.94 (125 ซี่) และพบว่าการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันสมบูรณ์ลดความเสี่ยงการเกิดฟันผุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05)
จากผลการศึกษาดังกล่าวควรมีการติดตามการยึดติดของสารเคลือบหลุมร่องฟันทุกหกเดือน รวมทั้งทบทวนความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเคลือบหลุมร่องฟันให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นประจำเพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการเคลือบหลุมร่องฟันในนักเรียนประถมศึกษา