อุบัติการณ์และปัจจัยที่สัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการกรองของไต ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

ผู้แต่ง

  • ศันสนีย์ เชาวนเกตุ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, อัตราการกรองของไต

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1).เพื่อศึกษาอุบัติการณ์การลดลงของอัตราการกรองของไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 2). เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับการกรองของไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ระยะเวลา 6 เดือน และ 12 เดือน และ 3). เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการกรองของไตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2  กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 360 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบบันทึกข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบค่าที และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

             ผลการวิจัย พบว่า จากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 360 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 265 คน (73.61%) มีอายุเฉลี่ย 65.38 ปี  (35-92 ปี) ค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ย 26.74 kg/m2 (16-71 kg/m2) ส่วนใหญ่มีโรคร่วม คือ โรคความดันโลหิตสูง (87.30%) รองลงมาไขมันในเลือดสูง (47.71%) มีการลดลงของอัตราการกรองของไต จำนวน 179 คน (49.72%) เข้าสู่ระยะที่ 2 ของโรคไตเรื้อรังมากที่สุด (34.63%) มีการทำงานของไตลดลงที่ระยะเวลา 6 เดือน12 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤0.05) เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการกรองของไต พบว่า อายุ, ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน, ดัชนีมวลกาย, ระดับ BUN creatinine, และ albumin urine เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการกรองของไต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤0.05)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-30