แนวโน้มของการติดเชื้อซิฟิลิสในสตรีตั้งครรภ์ของโรงพยาบาลตติยภูมิขนาดใหญ่

ผู้แต่ง

  • ลดาพร วงษ์กัณหา กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก

คำสำคัญ:

โรคซิฟิลิส, สตรีตั้งครรภ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษารูปแบบ Retrospective Descriptive Study มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ อัตราการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดในหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยทำการศึกษาระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 - มีนาคม พ.ศ. 2565 ในกลุ่มตัวอย่าง 177 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ค่ามัธยฐาน (ค่าสูงสุด-ค่าต่ำสุด) และสถิติอนุมาน ได้แก่ สถิติ Chi-square test และสถิติ Multiple logistic regression

ผลการศึกษา พบว่า อัตราการติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ปี พ.ศ. 2563 มีอัตราการติดเชื้อซิฟิลิสสูงที่สุด (ร้อยละ 2.46) รองลงมาคือ ปี พ.ศ. 2562 (ร้อยละ 1.19) และ ปี พ.ศ. 2561 (ร้อยละ 0.76) ตามลำดับ

ผลการวิเคราะห์โดยวิธีพหุถดถอยหลายตัวแปร พบว่า น้ำหนักแรกเกิดเป็นปัจจัยป้องกันการทำให้ทารกมีความผิดปกติหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ORadj = 0.19, 95% CI = 0.0792 – 0.04603, p-value < 0.001) และสูตรการรักษาโรคซิฟิลิสในมารดาเป็นปัจจัยป้องกันการทำให้ทารกมีความผิดปกติหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (ORadj = 0.18, 95% CI= 0.0669 – 0.05064, p-value = 0.001)

ควรมีการกำหนดแนวทางการดูแลและรักษาโรคติดเชื้อซิฟิลิสในทุกระยะของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันกันการเกิดการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในทารกแรกคลอด และลดการตายคลอด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-03-22