การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเฝ้าระวัง และดูแลโรคซึมเศร้า ในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2565

ผู้แต่ง

  • ศรีไพร ทองนิมิต

คำสำคัญ:

ภาวะซึมเศร้าในนักเรียน, การดูแลโรคซึมเศร้า, การพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน (Working Model) เฝ้าระวังและดูแลโรคซึมเศร้าในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2565  และ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อน กับ หลัง การนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้น (The New Working Model) ไปดำเนินการในพื้นที่อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2565 – 30 กันยายน 2565 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่กำลังศึกษาอยู่ในระบบโรงเรียนทุกสังกัดทุกคน ในอำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2565 จำนวน  664 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 644 คน และครูประจำชั้น จำนวน 36 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนา แจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสถิติ t- test เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน

     ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลองใช้รูปแบบการดำเนินการใหม่ ผลลัพธ์ ผลการประเมินภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายในประชากรกลุ่มตัวอย่าง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ผลการประเมินจุดอ่อนจุดแข็งโดยนักเรียน ผู้ปกครองและครูดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) จึงสรุปได้ว่า รูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้น ดีกว่ารูปแบบเดิม เนื่องจากมีวิธีการพัฒนารูปแบบที่ดี จำแนกเป็น 4 ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์รูปแบบเดิม การพัฒนารูปแบบใหม่เบื้องต้น การทดลองใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่และการสรุปผลการทดลองใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำให้เกิดระบบที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้จริง มีวิธีการนำรูปแบบไปดำเนินการที่ดีเป็นที่ยอมรับจากผู้ปฏิบัติงานด้วยหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีการติดตามประเมินผลที่ดีและนำผลไปพัฒนารูปแบบขณะดำเนินการเป็นระยะๆ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของผู้ปฏิบัติงาน เสนอแนะ ให้พัฒนาต่อเนื่องและครอบคลุมทุกๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ควรนำไปประยุกต์และขยายผลการพัฒนางานสู่พื้นที่ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ให้ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-31