การเสริมสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
คำสำคัญ:
การเสริมสร้างแรงจูงใจ, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบทคัดย่อ
การศึกษาการเสริมสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม(Motivational interviewing) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการให้สุขศึกษาแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ด้วย Motivational Interviewing technique กับ Routine management ว่ามีผลต่อผู้ป่วยเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูงหรือไม่ และอย่างไร โดยใช้วิธีทำการวิจัยเชิงทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบ Routine to Research (R2R) จากกลุ่มในผู้ป่วยโรคเบาหวานและ/หรือความดันโลหิตสูง ที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าข้าม ที่มีข้อมูลประวัติการเข้ารับบริการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการครบทั้งปีงบประมาณ 2562 และ 2563 จำนวน 182 คน โดยแบ่งแบบ Non-randomized ได้กลุ่มวิจัย (Motivational Interviewing) 42 คน และกลุ่มควบคุม 140 คน ติดตามผลการตรวจร่างกายและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ 3, 6 เดือน และ 1 ปีงบประมาณ
ผลการศึกษา พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยอาศัยกระบวนการ Motivational interviewingค่าความดันโลหิตตัวบนในกลุ่มวิจัยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 3 และ 6 เดือน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าดัชนีมวลกายทั้งกลุ่มวิจัยและกลุ่มควบคุมมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งที่ 3 และ 6 เดือน ค่าของเสียสะสมในเลือด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และค่าการทำงานของไตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระดับเดียวกันทั้งกลุ่มวิจัยและกลุ่มควบคุม ระดับกรดยูริค ระดับไขมันอิ่มตัว และระดับไขมันไม่ดีในเลือด เปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยกลุ่มวิจัยมีแนวโน้มลดลง และกลุ่มควบคุมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับไขมันดีในเลือด เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งกลุ่มวิจัยและกลุ่มควบคุม ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับคอเลสเตอรอลรวม และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด เพิ่มขึ้นทั้งสองกลุ่ม โดยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีนัยสำคัญในกลุ่มวิจัย