การพัฒนาโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้แต่ง

  • อุษนีย์ รามฤทธิ์
  • สุภัค จันทร์สองดวง
  • พรสงกรานต์ มนคาถา
  • นฤมล โพธิสาขา

คำสำคัญ:

การพัฒนาโปรแกรม, การจัดการตนเอง, การมีส่วนร่วม, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

บทคัดย่อ

     การวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับยาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 แห่ง ในอำเภอเรณูนคร จำนวน 100 คน ได้รับการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 โปรแกรมการจัดการตนเองโดยการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่วนที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา และเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตองค์การอนามัยโลกแบบย่อ การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไปวิเคราะห์โดยใช้ค่าจำนวน ร้อยละ, พฤติกรรมสุขภาพ, เครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตองค์การอนามัยโลกแบบย่อโดยใช้ค่าเฉลี่ย และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ใช้ค่าเฉลี่ย, สถิติ Pair t-test เปรียบเทียบก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม

     กระบวนการพัฒนาโปรแกรมการจัดการตนเองโดยการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่  2 ประกอบด้วย  4 ขั้นตอน คือ ขั้นวางแผน (Plan)  ขั้นปฏิบัติ (Act) ระยะติดตามประเมินผล (Observe) และขั้นสะท้อนผลการปฏิบัติ (Reflect) ผลการศึกษาพบว่า หลังเข้าร่วมโปรแกรมพบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มตัวอย่างคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น (M=47.09, SD=3.05) การออกกำลังกายคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น (M=9.75, SD=2.88)  และการใช้ยาคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น (M=21.96, SD=2.12) คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายและสัมพันธภาพทางสังคมมีคุณภาพชีวิตกลางๆ ด้านจิตใจและสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพชีวิตดี และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) เฉลี่ยลดลง ( M=8.972, SD=2.15) กว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรม ( M=9.604, SD=2.67)  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-31