การดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยการใช้การจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร : กรณีศึกษาตำบลขมิ้น อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
คำสำคัญ:
การจัดการรายกรณี, ผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง, การมีส่วนร่วมบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูแลและผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2564 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 แบ่งเป็น 3 ระยะ 1) วิเคราะห์ ประเมิน เตรียมการ ของสถานการณ์ของผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน โดยการสนทนากลุ่ม 2) จัดการรายกรณีโดยกระบวนการพยาบาล ให้ชุมชนมีส่วนร่วมตามบทบาทหน้าที่ 3) ประเมินผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปผล กลุ่มเป้าหมายคัดเลือกแบบเจาะจง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง 34 คน ญาติหรือผู้ดูแล 34 คน อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลตำบล ผู้นำชุมชน 20 คน เครื่องมือเก็บข้อมูลได้แก่ แบบติดตามผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในชุมชน 10 ด้าน แบบประเมินอาการทางจิตชนิดสั้น แบบประเมินความสามารถโดยรวม แบบสอบถามความพึงพอใจสำหรับญาติ/ผู้ดูแล และแบบประเมินความคิดเห็นของอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการทดสอบที (t-test) และปรับปรุงแก้ไขโดยการสนทนากลุ่ม นำผลการสนทนา ลงมือปฏิบัติ ในการดูแลผู้ป่วย
ผลการศึกษาสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน พบว่าขาดการจัดการต่อเนื่องในชุมชน ญาติหรือผู้ดูแล ขาดความรู้ ทักษะการดูแล ต้องการความช่วยเหลือจากชุมชน ทีมสุขภาพ จึงจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน โดยการเยี่ยมบ้าน ปรับแผนการดูแลตามให้เหมาะสม ผลลัพธ์การจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเภท มีค่าคะแนนอาการทางจิตหลังได้รับการจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน ลดลงกว่าก่อนได้รับการจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -12, p–value ‹ 0.05) และความสามารถโดยรวมหลังได้รับการจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน สูงกว่าก่อนได้รับการจัดการรายกรณีแบบมีส่วนร่วมในชุมชน ที่มีคาเฉลี่ยคะแนน ความสามารถโดยรวม (เฉลี่ย = 45.91, SD = 3.35) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 21, p–value ‹ 0.05) ผู้ป่วยจิตเภทไม่ก่อความรุนแรง ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ญาติหรือผู้ดูแล อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความพึงพอใจ