ผลของโปรแกรมการจัดการความเครียดต่อความเครียด ความวิตกกังวล และความพึงพอใจของญาติผู้ป่วยวิกฤต หอผู้ป่วยไอซียู โรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
คำสำคัญ:
ญาติผู้ป่วยวิกฤต, ความเครียด, ไอซียูบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการความเครียดต่อความเครียด ความวิตกกังวล และความพึงพอใจของญาติผู้ป่วยวิกฤต หอผู้ป่วยไอซียู โรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร กลุ่มตัวอย่างคือญาติผู้ป่วยวิกฤตที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยไอซียู โรงพยาบาลวานรนิวาส จำนวน 30 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ดำเนินศึกษาระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างแบบประเมินความเครียดของญาติผู้ป่วยวิกฤต แบบวัดความวิตกกังวลตามสถานการณ์ และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อโปรแกรม ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือโปรแกรมการจัดการความเครียดสำหรับญาติผู้ป่วยวิกฤต วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความเครียดและความวิตกกังวลก่อนและหลังทดลองใช้สถิติ Paired t-test
ผลการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ยความเครียดหลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=11.358, p<0.001) และคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลของญาติผู้ป่วยวิกฤตหลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน (t=15.220, p<0.001) ส่วนความพึงพอใจต่อโปรแกรมการจัดการความเครียดภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับพึงพอใจมาก (=3.18, S.D.=0.68)