ผลการประเมินกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเพื่อเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็ก จังหวัดกาฬสินธุ์
คำสำคัญ:
ผลการประเมิน, กระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก, ระดับสติปัญญาบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและประเมินผลของกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเพื่อเพิ่มระดับสติปัญญาของเด็กจังหวัดกาฬสินธุ์ เก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม รับฟังการนำเสนอ และส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2561 ถึง กันยายน 2564 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายตามตัวชี้วัดความสำเร็จของกระบวนการ วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัย พบว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีกระบวนการจากการประยุกต์ใช้กลยุทธ์ “PIRAB” โดยยกประเด็นระดับสติปัญญา เป็นวาระการพัฒนาร่วมระดับจังหวัด สู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ,การบูรณาการงบประมาณจากท้องถิ่น ,การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางสังคมที่เกี่ยวข้อง ,การยกระดับความรอบรู้สุขภาพสู่แม่และครอบครัว และการเพิ่มทักษะการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพแก่แม่และเด็กที่มีคุณภาพ เห็นได้จากข้อมูลสุขภาพที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก ปี 2561 - 2564 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ ค่ามัธยฐานไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ เท่ากับ 117.9 ,164.2 ,154.6 ,198.6 ไมโครกรัมต่อลิตร (เกณฑ์ >150) ,ภาวะโลหิตจางหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 14.3 ,14.4 ,14.4 ,13.3 (เกณฑ์ <16) ,ทารกแรกเกิดน้ำหนัก <2,500 กรัม ร้อยละ 6.0 ,6.6 ,5.9 ,6.0 (เกณฑ์ <7) ,เด็กแรกเกิดกินนมแม่อย่างเดียว ร้อยละ 69.3 ,75.3 ,76.2 ,78.0 (เกณฑ์ >50) ,เด็กได้รับธาตุเหล็ก ร้อยละ 23.8 ,46.0 , 74.9 ,73.9 (เกณฑ์ >70) ,เด็กสูงดีสมส่วน ร้อยละ 49.4 ,56.5 ,68.2 ,66.1 (เกณฑ์ >62) ,เด็กมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 97.3 ,98.4 ,91.9 ,98.1 (เกณฑ์ >85) และเด็กมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 , 2559 และ2564 เท่ากับ 93.78 , 93.33 และ 101.49 จุด (เกณฑ์ >100) ตามลำดับ
ข้อเสนอแนะ ควรเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและยกระดับความรอบรู้สุขภาพด้านการเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง