การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนโดยโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Transtheoretical Model: TTM) เทศบาลตำบลเสลภูมิ อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
คำสำคัญ:
การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, Transtheoretical Model: TTM)บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการเชิงวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา/บริบทผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนโดยโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และผลของการพัฒนาการรูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนโดยโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม(Transtheoretical Model: TTM) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนกับคลินิกโรคเบาหวานในโรงพยาบาลเสลภูมิที่ยินดีเข้าร่วมในการวิจัยครั้งนี้จำนวน 30 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาคือการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน โดยใช้โมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม(Transtheoretical Model: TTM) เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยเบาหวาน แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคเบาหวานและแบบสอบถามพฤติกรรมการควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวาน และแบบประเมินความพึงพอใจของผู้ดูแลผู้ป่วยและบุคลากรสหวิชาชีพ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน และ สถิติ paired t-test
ผลการศึกษาพบว่า ว่า หลังการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนโดยโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม(Transtheoretical Model: TTM) ทำให้ได้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยการมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความแตกต่างของขั้นของพฤติกรรมของผู้ป่วยในแต่ละราย ผลลัพธ์การพัฒนาพบว่า ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและพฤติกรรมการควบคุมโรคเบาหวานของผู้ป่วยเบาหวานหลังการใช้โมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสูงกว่าก่อนการใช้โมเดลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(t=6.34, p-value <0.001 และt=25.37, p-value <0.001 ตามลำดับ) ความพึงพอใจต่อแผนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนของผู้ดูแลอยู่ในระดับสูง ส่วนความพึงพอใจของสหวิชาชีพอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสามารถนำโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม Transtheoretical Model: TTM ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCD) อื่นๆ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดีขึ้นได้