ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กของผู้ดูแล

ผู้แต่ง

  • สมศักดิ์ อินทมาต -
  • ดาวประกาย หญ้างาม
  • วริศรา รักษาภักดี
  • สุจิตรา พงศ์วงประเสริฐ

คำสำคัญ:

โรคหืด, พฤติกรรมการดูแล, ผู้ดูแล

บทคัดย่อ

     การศึกษาเชิงสำรวจภาคตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กของผู้ดูแล กลุ่มตัวอย่างคือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กที่มีอายุ 1-15 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหืดมาอย่างน้อย 6 เดือน ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคหืดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จำนวน 138 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ Pearson Product Moment Correlation Coefficient ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 78.98 มีอายุระหว่าง 51-60 ปี ร้อยละ 39.85 สถานภาพสมรส คู่ ร้อยละ 65.22 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 51.44 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 36.23 มีรายได้น้อยว่าเดือนละ 4,000 บาท ร้อยละ 28.98 พฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับพฤติกรรมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 96.38 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงในการเกิดของภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด การรับรู้ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด การรับรู้สมรรถนะตนเองในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็ก มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหืดเด็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-30