การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับ กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง เขตสุขภาพที่ 9
คำสำคัญ:
การพัฒนารูปแบบ, การรับรู้, การบริโภคเกลือและโซเดียม, โรคความดันโลหิตสูงบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง เขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสถานการณ์การรับรู้ความสามารถของตนเองและพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียม เขตสุขภาพที่ 9 กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง อายุ 35 -59 ปี จำนวน 328 คน ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบและทดลองใช้ในพื้นที่ต้นแบบ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง จำนวน 40 คน ระยะที่ 3 ประเมินผลการพัฒนารูปแบบ และประเมินความพึงพอใจ ในพื้นที่ที่ศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม เก็บข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม สังเกต สัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติพรรณนา สถิติอนุมาน (Inferential statistic) ในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย โดยใช้สถิติ Paired sample t-test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง เขตสุขภาพที่ 9 มีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) การพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการดำเนินงาน (2) การทำงานแบบบูรณาการในรูปแบบคณะทำงาน (3) การพัฒนาความรู้และทักษะของวิทยากรกระบวนการ (4) การคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ (5) การติดตามประเมินผล โดยทำการทดลองใช้โปรแกรมการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียม เป็นเวลา 7 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมกิจกรรมตามรูปแบบ จำนวน 40 คน พบว่า ภายหลังการทดลองใช้โปรแกรมการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง มีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถของตนเองต่อการบริโภคเกลือและโซเดียม และพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้นก่อนการทดลองใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) และผลการประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบกิจกรรมในการสร้างเสริมการรับรู้ต่อพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ในพื้นที่ศึกษาอยู่ในระดับมากที่สุด