การพยาบาลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและมีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงสูงจากการใช้สารเสพติด : กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
การพยาบาลผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด, การพยาบาลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว, พฤติกรรมก้าวร้าว, พฤติกรรมก้าวร้าวจากการใช้สารเสพติด, ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษา 2 ราย เพื่อศึกษา การพยาบาลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงจากการใช้สารเสพติด ที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ระยะผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน (Acute care) ระยะดูแลต่อเนื่อง ระยะฟื้นฟูและการวางแผนจำหน่าย โดยการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย ญาติ และเวชระเบียน การประเมินอาการ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย นำข้อมูลมากำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล วางแผนการพยาบาล และมีการประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษา : ศึกษาเปรียบเทียบการพยาบาลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงจากการใช้สารเสพติด กรณีศึกษา 2 ราย ที่ได้รับการรักษาที่หอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ดำเนินการศึกษาระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึง วันที่ 7 กันยายน 2566 จากกรณีศึกษารายที่ 1 หญิงไทย อายุ 41 ปีใช้สารเสพติดได้แก่ ยาบ้า และกัญชา มีพฤติกรรมก้าวร้าวและเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงระดับปานกลาง ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต ยาควบคุมอารมณ์ และจิตสังคมบำบัด สามารถควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมได้เหมาะสมและกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ กรณีศึกษารายที่ 2 ชายไทยอายุ 49 ปี ใช้สารเสพติดได้แก่ ยาบ้า กัญชา และสารระเหย จนเกิดอาการทางจิต ประสาทหลอน มีภาวะหวาดระแวง ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวและความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงระดับสูง หลังให้การบำบัดรักษาด้วยยาต้านโรคจิตทั้งชนิดรับประทาน ยาฉีดออกฤทธิ์ระยะยาว ยาควบคุมอารมณ์ และจิตสังคมบำบัด สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น แต่ยังควบคุมอารมณ์ได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีศึกษารายที่ 1 และมีความคิดหลงผิดที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณ ระยะเวลาการใช้สารเสพติด และความกดดันจากการถูกครอบครัวปฏิเสธ การจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลของกรณีศึกษาทั้ง 2 รายจึงมีความจำเป็นต้องส่งต่อภาคีเครือข่ายร่วมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากเป็นผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง