รูปแบบบริการชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตามบริบทคลินิกโรคไต โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • ปัญญาพร ฉายะโคตร -
  • รักชนก ถวิลการ
  • สุขขี แสงส่อง

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, รูปแบบบริการ, การชะลอไตเสื่อม

บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและผลลัพธ์ของรูปแบบบริการชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตามบริบทคลินิกโรคไต โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการศึกษาตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2565 –  พฤษภาคม 2566 รวม 8 เดือน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4 ที่มีอายุต่ำกว่า 70 ปี ที่มารับบริการในคลินิกไต โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 376 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ รูปแบบบริการชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, แบบเก็บประวัติการรักษาของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สถิติเชิงพรรณนา และสถิติอนุมาน paired sample t-test

     ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการดำเนินการตามรูปแบบบริการชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ทำให้ค่าคะแนนความคิดเห็นของผู้ป่วยต่อโรคไตเรื้อรังเกี่ยวกับการถูกรบกวนจากโรคไตเรื้อรังมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังการดำเนินงานมีค่าคะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าก่อนดำเนินการ ค่าคะแนนความพึงพอใจต่อการบริการชะลอไตเสื่อมในคลินิกโรคไตเรื้อรังในภาพรวมและรายด้านก่อนและหลังดำเนินการมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังการดำเนินงานมีค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจมากกว่าก่อนดำเนินการ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีค่าอัตราการกรองของไต (GFR) ก่อนและหลังดำเนินการมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังดำเนินการมีค่าอัตราการกรองของไต (GFR) มากกว่าก่อนดำเนินการการวิจัยครั้งนี้มุ่งเน้นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงรุกสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โดยเน้นบทบาทของรูปแบบการบริการที่ปรับให้เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพชีวิตและชะลอการลุกลามของโรคไตเรื้อรัง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-30