แนวทางการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2

ผู้แต่ง

  • อภิญญา ชื่นอารมณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • พรเทพ รู้แผน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

คำสำคัญ:

การบริหารสถานศึกษา, ทักษะอาชีพ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 และ 2) เพื่อนำเสนอแนวทางการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบงานวิชาการ ครูผู้สอนกลุ่มสาระวิชาการงานอาชีพ และครูผู้สอนวิชาแนะแนวในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 27 โรงเรียน โรงเรียนละ 4 คน รวมทั้งสิ้น 108 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ที่ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .937 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

          ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับมาก ด้านที่มีระดับการปฏิบัติสูงสุดคือด้านการจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รองลงมาคือด้านการบริหารบุคลากร และด้านที่มีระดับการปฏิบัติต่ำสุดคือด้านการจัดโครงสร้างและระบบงาน 2) ปัญหาการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับน้อย ด้านที่มีระดับปัญหาสูงสุดคือด้านการจัดโครงสร้างและระบบงาน รองลงมาคือด้านการติดตาม ประเมินผล และรายงาน และด้านที่มีระดับปัญหาต่ำสุดคือด้านการจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 3) แนวทางการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 คือ ด้านการจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้ การมีหลักสูตรสถานศึกษาที่ส่งเสริมด้านทักษะอาชีพและกำหนดโครงสร้างรายวิชาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับทักษะอาชีพ ครูต้องวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดในสาระที่สอนเพื่อเชื่อมโยงกับทักษะอาชีพ จัดการเรียนการสอนแบบ Active Leaning ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ครูมีการวัดผลและประเมินผลตามสภาพที่แท้จริงด้วยวิธีการที่หลากหลาย การกำหนดรายวิชาหรือกิจกรรมเพิ่มเติมด้านทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรโดยเน้นในเรื่องของทักษะกระบวนการให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้านการจัดโครงสร้างและระบบงาน ดังนี้ การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบศูนย์งานพัฒนาทักษะอาชีพของโรงเรียน สร้างเครือข่ายพัฒนาทักษะอาชีพในชุมชน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์งานพัฒนาทักษะอาชีพกับหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกและวิทยาลัยการอาชีพเพื่อนำปราชญ์ชาวบ้านและวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน และการทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานการศึกษาด้านทักษะอาชีพในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียน การแบ่งโครงสร้างการทำงานเป็นลำดับ และแต่งตั้งคณะทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ โดยแต่งตั้งเป็นรูปแบบคำสั่งและประกาศของโรงเรียน ด้านการบริหารบุคลากร ดังนี้ การสำรวจความต้องการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากร ให้ครูจัดทำแผนพัฒนาตนเอง การสำรวจข้อมูลภูมิหลังการพัฒนาทักษะอาชีพของโรงเรียน และสำรวจความรู้ความสามารถของวิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อวางแผนการพัฒนาทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรและสภาพท้องถิ่น มอบหมายงานให้ถูกคน ตามความสามารถและความถนัด ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาแก่บุคลากร โดยเชิญวิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้านมาอบรมให้ความรู้หรือส่งบุคลากรไปอบรมด้านทักษะอาชีพจากภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานอื่น การจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านทักษะอาชีพของนักเรียนและเปิดเวทีวิชาการให้ครูและนักเรียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้านการบริหารจัดการและระดมทรัพยากรการศึกษา ดังนี้ การจัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพลงในแผนปฏิบัติการโรงเรียน แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะอาชีพ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของพัสดุและการเงิน เบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการที่ตั้งไว้ในแผนปฏิบัติการ การรายงานผลการดำเนินงานทักษะอาชีพโดยครูที่รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณ การระดมทรัพยากรในด้านกำลังคน ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน สถานประกอบการหรือหน่วยงานการศึกษาด้านอาชีพในชุมชน เพื่อให้ให้ความรู้แก่นักเรียนและบุคลากร จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพเสนอต่อหน่วยราชการต้นสังกัดเพื่อของบประมาณสนับสนุน และด้านการติดตาม ประเมินผล และรายงาน ดังนี้ การนิเทศการจัดการเรียนการสอนงานทักษะอาชีพ การกำกับติดตามให้คำปรึกษาในระหว่างดำเนินงาน มีการประชุมการปรึกษาหารือสม่ำเสมอ การใช้แบบสอบถาม แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน แล้วนำผลการนิเทศติดตามและผลการรายงานการดำเนินงานปีที่ผ่านมา มาแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานทักษะอาชีพ การมีแบบฟอร์มรายงานผลการดำเนินงานและการรายงานผลการพัฒนาทักษะอาชีพเป็นรายภาคเรียนหรือทุกสิ้นปีงบประมาณ แล้วนำผลการรายงานที่ได้รับเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการรายงานการประเมินตนเองของโรงเรียนตามตัวชี้วัดประกันคุณภาพ และมีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานทางเว็บไซต์ แผ่นข่าว หรือวารสารต่าง ๆ

References

กระทรวงศึกษาธิการ. (2561). แนวทางการเสริมทักษะและสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพให้กับนักเรียน. กรุงเทพมหานคร : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา.

บาทหลวงมงคล จันทรสุขสันต์. (2559). การบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศของสถานศึกษา สังกัดสังฆมณฑลราชบุรี. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.

พชรัชต ทุมคำ. (2559). การบริหารสารสนเทศในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 4. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

รุจิรา วิริยะหิรัญไพบูลย์. (2559). สภาพและแนวทางการพัฒนาการบริหารโรงเรียนประถมศึกษาในอำเภอเก้าเลี้ยวจังหวัดนครสวรรค์. วารสาร Southeast Bangkok Journal. 2(2) : 79 - 93.

สายเพ็ญ บุญทองแก้ว. (2563). การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สำหรับ นักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี.

สุภาพ ผู้รุ่งเรือง. (2559). รูปแบบการพัฒนาครูเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์. วารสารบริหารการศึกษาบัวบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. 16(1) : 177 - 187)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-12-30