จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ

วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณภาพของวารสาร และการรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน วารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จึงได้กำหนดจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความตามบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน              

1. บทความที่ผู้เขียนส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน รวมถึงต้องไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของวารสารวิชาการหรืองานประชุมวิชาการอื่น

2. หากผู้เขียนนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความของตนเองจะต้องอ้างอิงในเนื้อหา รวมทั้งการจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ

3. ผู้เขียนจะต้องเขียนบทความทางวิชาการให้ถูกต้อง และตรงตามรูปแบบที่กองบรรณาธิการกำหนดไว้ใน คำแนะนำในการเตรียมและส่งต้นฉบับ มิฉะนั้นทางบรรณาธิการจะไม่รับพิจารณาบทความนั้น ๆ

4. ผู้เขียนที่มีรายชื่อปรากฏในบทความ จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในบทความนั้นจริง

5. ผู้เขียนต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและการศึกษานั้น โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

6. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยในกิตติกรรมประกาศ (หากมี)

7. ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร

2. บรรณาธิการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสาขาประเมินคุณภาพบทความนั้น ๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน

3. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิให้ทราบต่อกัน

4. บรรณาธิการต้องตีพิมพ์บทความที่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เขียนได้ทำการปรับแก้ตามข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้วเท่านั้น

5. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ และไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ หรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตน

6. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความ โดยไม่มีอคติในการพิจารณาบทความ และต้องตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมิน รวมถึงต้องตรวจสอบคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์ทุกครั้ง

7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานของวารสารและถูกต้องของผลงานทางวิชาการ รวมถึงการปรับปรุงวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยอยู่เสมอ

8. บรรณาธิการต้องเต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์ การทำให้เกิดความกระจ่าง การถอด-ถอนบทความ และการขออภัย หากจำเป็น ตามกระบวนการดำเนินการของวารสาร

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิ

1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่น

2. ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนเองเชี่ยวชาญ และมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง โดยมีการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการ

3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก ไม่มีอคติหรือเหตุผลส่วนตัวในการประเมินบทความ และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน หรือหากมี ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบทันที

4. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาระยะเวลาในการประเมินบทความตามกรอบระยะเวลาที่กองบรรณาธิการกำหนด