การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งเร้ากระบวนการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยให้ต้องกระชับและรวดเร็วมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของอุตสาหกรรมเมื่อความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของการกำหนดและการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยซึ่งที่ผ่านมาเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนทางด้านอุปทาน (ผู้ผลิต) มากกว่า โดยหวังว่าการสนับสนุนจะถูกส่งผ่านมาถึงผู้ซื้อได้ แต่ก็พบว่า ผลของการดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวไม่มีผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวังไว้จากจำนวนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) และยานยนต์ไฮบริด (HEV และ PHEV) ที่ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์สันดาปที่สำคัญของโลกเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากเพราะจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าตลอดสายการผลิต ดังนั้น เมื่อพิจารณาได้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตจากความได้เปรียบทางด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของการใช้ยานยนต์ด้วยการวิเคราะห์ WTW (Well-to-Wheel Analysis) และผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) นโยบายในการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทการปรับตัวของอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทั้งทางด้านการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่จากต่างประเทศ) มากกว่า (และขาดหายไป) คือ นโยบายการอุดหนุนทางด้านอุปสงค์ หรือทางด้านผู้บริโภค เพื่อลดข้อเสียเปรียบทางด้านราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (แม้ว่าราคารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะปรับลดลงตามราคาแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า) และข้อกังวลเกี่ยวกับพิสัยการขับขี่ของยานยนต์ไฟฟ้าที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ สถานีประจุไฟฟ้า ระยะเวลาของการประจุไฟฟ้าแบตเตอรี่ยานยนต์ ความรู้ความเข้าใจของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการใช้อย่างกว้างขวาง และสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในอนาคต
Article Details
Copyright to published manuscripts becomes the property of the Graduate School of Development Economics, National Institute of Development Administration. Reproduction of all or part of a Development Economic Review (DER) article by anyone, excluding author(s), is prohibited, unless receiving our permission.