การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก ที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กที่มีประสิทธิผลสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ 2) เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์และความถูกต้อง ของรูปแบบการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กที่มีประสิทธิผล สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิผล โดยศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบวิเคราะห์เนื้อหาและแบบสัมภาษณ์ และการใช้เทคนิคเดลฟายแบบปรับปรุง 3 รอบ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามแบบเลือกตอบ และแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ระยะที่ 2 การตรวจสอบและยืนยันรูปแบบที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา 2561 จำนวน 444 คน จำแนกเป็นผู้บริหารโรงเรียน 222 คน และครูผู้สอน 222 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของยามาเน่ (Yamane) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำรูปแบบไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 9 คน พิจารณา ด้วยการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่พัฒนาขึ้น เป็นโครงสร้างที่แสดงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ ระหว่างองค์ประกอบที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนซึ่งมี 5 ด้าน คือ 1) ด้านภาวะผู้นำของผู้บริหาร 2) ด้านสมรรถนะของครู 3) ด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 4) ด้านวัฒนธรรมองค์การ และ 5) ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน และกระบวนการบริหารโรงเรียน ซึ่งมี 4 ด้าน คือ 1) ด้านวิธีการบริหาร 2) ด้านจัดการเรียนการสอน 3) ด้านการบริหารจัดการหลักสูตร และ 4) ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
2. รูปแบบการบริหารโรงเรียนที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสมโดยรวมในระดับมากที่สุด ( = 4.66) นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญ 9 คน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบที่พัฒนาขึ้น อยู่ในระดับมาก ในด้านความเหมาะสม (µ = 4.38) และด้านความเป็นไปได้ (µ = 4.47) และระดับมากที่สุดในด้านความเป็นประโยชน์และด้านความถูกต้อง (µ = 4.67)