Critical Race Theory and the Coming Back of Racism

Main Article Content

Pichet Saiphan

Abstract

ช่วงปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงการเหยียดเชื้อชาติได้ปรากฏมากขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ในโลก นอกจากความเคลื่อนไหวในการรณรงค์ต่อต้านและการสร้างแรงปะทะกันระหว่างกลุ่มเชื้อชาตินิยม  ยังมีการหยิบยกทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ (Critical Race Theory - CRT) ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในสหรัฐอเมริกามาทำการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง  บทความนี้จึงได้นำเอา CRT ขึ้นมาทบทวนและพิจารณาถึงความสำคัญและทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมในปัจจุบัน ทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ (Critical Race Theory) หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า CRT เกิดขึ้นมาในบรรยากาศทางวิชาการและบริบทของสังคมอเมริกาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 โดยมีแกนความคิดที่เป็นข้อเสนอของ CRT ที่สำคัญคือการวิพากษ์มโนทัศน์เชื้อชาตินิยม (racism) ว่าเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม (social construct) หาใช่คำอธิบายที่วางอยู่บนพื้นฐานของคุณสมบัติทางพันธุกรรมและชีวภาพอย่างเดียวไม่ แม้ว่าคุณสมบัติทางพันธุกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดลักษณะทางกายภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่สังคมก็ได้พยายามกำหนดชุดคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมให้กับวิธีคิดเรื่องเชื้อชาติและชาตินิยมอย่างปฏิเสธข้อเท็จจริงด้านนี้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งยังยืนยันว่ามโนทัศน์เชื้อชาตินิยมเป็นปมความขัดแย้งทางสังคมของอเมริกามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  CRT จึงมีเป้าหมายต่อต้านมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมเพื่อขจัดทัศนะการเหยียดเชื้อชาติและสร้างความเท่าเทียมในกลุ่มชนอเมริกัน  เพราะอภิสิทธิ์ชนอเมริกันมีพื้นฐานมาจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติมาก่อน เห็นได้ชัดในกรณีของสังคมอเมริกาที่สร้างมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมให้เกิดความแตกต่างแตกแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสีกลุ่มอื่น ๆ ขยายวงไปสู่กลุ่มคนที่เรียกว่าเป็นชนพื้นเมืองชาวอเมริกันที่เคยรู้จักกันมาก่อนในนามของชาวอินเดียนแดง  รวมทั้งบรรดากลุ่มผู้อพยพจากดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกที่เข้าไปเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา  มโนทัศน์เชื้อชาตินิยมนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอคติระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นฐานความคิดส่วนหนึ่งที่มีอคติต่อการวางนโยบายและกฎหมายที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก กีดกันผู้คน อันได้ดำเนินมาภายใต้อิทธิพลของมโนทัศน์ชุดนี้ในประวัติศาสตร์ของอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง  ทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาตินิยมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์มโนทัศน์หลักว่าด้วยเชื้อชาติ  เชื้อชาตินิยม  และเป็นทั้งความเคลื่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมิติการเมืองว่าด้วยอำนาจของกลุ่มคนด้วย  (Crenshaw, K., et.al. 1996, Delgado, R. and Stefantic J. 2001, Sawchuk, S. 2021)


          มโนทัศน์เชื้อชาตินิยม (racism) ได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมอย่างกว้างขวางมากขึ้น  เนื่องจากทำให้เกิดการเหยียดกลุ่มทางสังคม กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ  โดยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กรณีคู่ขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีอย่างที่เป็นปัญหาพื้นฐานในอเมริกาอย่างที่เคยเป็นมา    แต่ได้ทำให้เกิดทั้งอคติและปฏิบัติการต่อการเหยียดกลุ่มเชื้อชาติ  กลุ่มผิวสี  กลุ่มเพศสภาพ  กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน  กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ฯ อย่างเป็นวงกว้างในปัจจุบัน และยังทำให้เกิดกระบวนการของการทำให้กลายไปเป็นเชื้อชาติ (racialization)  จัดแยกคนภายใต้นิยามเชื้อชาติต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ แรงงาน อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมวัฒนธรรม แฟชั่น ดนตรี ฯลฯ อันกระทบต่อการดำเนินแบบแผนทางสังคมในชีวิตประจำวัน  ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพียงเท่านั้น  หากยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบคนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับอิทธิพลภายใต้มายาคติเชื้อชาติมาจนถึงทุกวันนี้  ดังนั้นการเกิดขึ้นของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาตินิยมจึงมาจากการตั้งคำถามพื้นฐานต่อระเบียบแห่งเสรีนิยม  ความเท่าเทียม  เหตุผลและหลักการทางกฎหมาย  สิทธิพลเมือง  ความเข้าใจในมิติทางชาติพันธุ์  ความหลากหลายของกลุ่มสังคมและกลุ่มวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในบริบทต่าง ๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์  เศรษฐกิจ  สังคม  จนถึงประสบการณ์ที่บุคคลต้องเผชิญทั้งในทางกายภาพและความรู้สึก  เพื่อต่อต้านปมขัดแย้งพื้นฐานที่มาจากมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมที่ฝังตัวอยู่ในสังคม  และขยายผลเป็นอคติและการเหยียด กีดกัน การสร้างความรุนแรง การทำลายล้างระหว่างกลุ่มสังคมต่าง ๆ เพื่อเป็นหนการแห่งการแสวงหาการยอมรับและความเท่าเทียม


ทั้งนี้หากจะกล่าวอย่างไม่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริง นักมานุษยวิทยา เช่น Ashley Montagu ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเข้าใจเรื่องเชื้อชาติ (race) และมโนทัศน์เชื้อชาตินิยม (racism) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 แล้ว ถึงกับได้ตีพิมพ์ออกมาในหนังสือชื่อ Man’s Most Dangerous Myth: The Fallacy of Race โดยมีข้อเสนอสำคัญว่า คำว่าเชื้อชาติที่มนุษย์เข้าใจกันมานั้นเป็นมายาคติ (Myth) ประเภทหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและหลงใหลจนถึงขั้นทำให้เกิดมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมอันเป็นอคติต่อมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ และนำพามนุษยชาตินำไปสู่หายนะ  ดังเป็นที่ปรากฏว่าความคิดเชื้อชาตินิยมมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงในการทำลายล้างกลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มประเทศชาติ ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองการปกครองจนเกิดการสู้รบกันเป็นวงกว้างในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงเวลานั้น (Montagu, M.F.A. 1942) หากแต่เวลานั้นข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อเชื้อชาติและชาตินิยมของ Montagu ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นจนถึงกับจะเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ  แต่ก็ได้ทำให้เกิดข้อเสนอและมุมมองใหม่ต่อเชื้อชาติและชาตินิยมในฐานะที่เป็นมายาคติ ซึ่งได้กลายเป็นฐานคิดร่วมกันกับกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติที่ได้เติบโตขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อที่จะเสนอคำอธิบายที่เป็นแกนความคิดสำคัญในการวิพากษ์และต่อต้านมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมว่าเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและควรที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อมโนทัศน์ชุดนี้


ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่บ่มเพาะความคิดต่อต้านความขัดแย้งและปัญหาอคติเชื้อชาติที่เริ่มเกิดขึ้นในสังคมอเมริกาโดยขบวนการ Black Power movement ของกลุ่มคนผิวสี และขบวนการ Chicano movement ของชาวเม็กซิกัน-อเมริกัน ที่มีมาก่อนตั้งแต่ทศวรรษ 1940  ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิพลเมือง (civil rights) ในทศวรรษ 1960 ซึ่งได้ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งกับฝ่ายของขบวนการปลดปล่อยเพื่อคนขาว (White liberal) ที่ดำเนินขึ้นมาต่อต้านอีกทางหนึ่งในทศวรรษนี้ด้วย รวมถึงข้อถกเถียงทางวิชาการจากกลุ่มการศึกษานิติศึกษาแนววิพากษ์ (Critical Legal Studies) และสตรีนิยมแนวถอนรากถอนโคน (radical feminism) (Crenshaw, K., et.al. 1996, Steinberg, S. 2010, 355-357, Matsuda, M.J., et.al. 2018) นับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการเติบโตและการรวมตัวของกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาตินิยมในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มมีบทบาทต่อวงวิชาการและการขับเคลื่อนสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา บรรยากาศทางวิชาการและความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 1970 ซึ่งกลายเป็นกระแสร่วมกับการเติบโตของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติด้วยก็คือมโนทัศน์พหุวัฒนธรรมนิยม (multiculturalism) และความเคลื่อนไหวด้านพหุวัฒนธรรม (multicultural movement)  ที่เกิดขึ้นในแคนาดา  ออสเตรเลีย  อังกฤษ  เยอรมัน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในโลก ได้เข้ามามีอิทธิพลร่วมกับกระแสคิดและความเคลื่อนไหวดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน  กระแสคิดและความเคลื่อนไหวชุดนี้ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของแต่ละสังคมซึ่งมีผลต่อวิธีคิดและการแสดงออกของคนในสังกัดวัฒนธรรมนั้น  ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมแต่ละแห่งก็มีการติดต่อสัมพันธ์กันและสร้างความหมายใหม่ไปจนถึงการก่อรูปอัตลักษณ์ใหม่อันเกิดจากการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมและมีลักษณะที่ปฏิเสธสารัตถะนิยม (anti-essentialism)   ดังนั้นข้อเรียกร้องที่สำคัญของพหุวัฒนธรรมนิยมก็คือ  ความพยายามทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหล่านี้  เปิดโอกาสยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่แตกต่างเลื่อนไหลไม่ยึดติดตายตัว  ภายใต้พื้นฐานร่วมที่มองว่าวัฒนธรรมแต่ละแห่งต่างก็มีฐานะเสมอภาคกันและอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา (Parekh, B. 2010, 238-239) วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ได้กลายมาเป็นชุดคุณค่าที่จำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญร่วมกันในความเคลื่อนไหวทางความคิดและความเคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นส่วนหนึ่งร่วมไปกับเป้าหมายการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การเรียกร้องความยุติธรรมทางกฎหมายและนโยบายการเมือง ในการขับเคลื่อนพื้นฐานของกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติด้วยแนวทางและเป้าหมายร่วมกัน ความตื่นตัวในการต่อต้านมโนทัศน์เชื้อชาตินิยม (anti-racism) และข้อเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (social justice) จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ หรือ CRT มาจากการรณรงค์เคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดยนักวิชาการทางกฏหมายคนสำคัญ ได้แก่ Derrick Bell, Kimberlé Crenshaw, Alan Freeman และ Richard Delgado จากนั้นได้มีการรวมตัวจัดประชุมทางวิชาการโดยนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ในประเด็นนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989 ที่เมดิสัน วิสคอนซิน และดำเนินต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ (Delgado, R. and Stefantic J. 2001, Karimi, F. 2021, Sawchuk, S. 2021) เนื่องจากอคติที่เกิดจากมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมได้ขยายตัวกระทบกลุ่มสังคมต่าง ๆ เป็นวงกว้าง  การกีดกัน  การเหยียดหยาม  การทำร้ายร่างกาย  ความรุนแรงทางสังคมที่เกินกว่าเหตุ  ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มสังคมหลายกลุ่ม  ทำให้ทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติอยู่ในความสนใจของนักวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์โดยทั่วไป  ดังนั้นแม้จะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวของจุดเริ่มต้นทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติจะมาจากนักวิชาการทางกฎหมายและนิติศาสตร์ แต่ก็ได้ขยายออกไปสู่สาขาวิชาต่าง ๆ   เช่น  รัฐศาสตร์  ชาติพันธุ์ศึกษา  อเมริกันศึกษา  ล้วนบรรจุทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจ(ต่อสังคมอเมริกา) และสร้างข้อถกเถียงในสาขาวิชาของตน ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากการสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการของกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติก็คือ การทำงานในฐานะนักกิจกรรมสร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดและโครงสร้างสังคมไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  กล่าวได้ว่า CRT จึงเป็นทั้งข้อเสนอทางวิชาการในทางความคิดทฤษฎีและเป็นกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมร่วมกันไปในตัว


          คู่ขัดแย้งในปัญหาการเหยียดเชื้อชาติระหว่างคนขาวกับคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากการเคลื่อนย้ายผู้คนในบริบทโลกาภิวัตน์ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา  ทำให้อเมริกากลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ผู้คนจากทั่วโลกพากันอพยพโยกย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก  และได้ทำให้เกิดกลุ่มวัฒนธรรมและสังคมต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นในสังคมอเมริกา  โดยเฉพาะการย้ายถิ่นของชาวเอเชียจากหลายประเทศเข้าไปสมทบกับชาวเอเชียรุ่นก่อนหน้าที่อพยพเข้าไปตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสมัยสงครามเย็น คำเรียกเหยียดเชื้อชาติที่เรียกคนญี่ปุ่นในอเมริกาว่า “Jap” หรือ “yellow monkey” ได้กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกเหยียดชาวเอเชียกลุ่มอื่น ๆ ตามมา


          สถานการณ์ของการเหยียดเชื้อชาติด้วยมโนทัศน์เชื้อชาตินิยม มีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ในปี ค.ศ. 2001 เห็นได้จากอคติที่มีต่อกลุ่มชาวอาหรับ ตะวันออกกลาง หรือชาวมุสลิมได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีผลต่อเนื่องถึงอคติเชื้อชาตินิยมที่มีต่อกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกัน เม็กซิกัน-อเมริกัน และเอเชียน-อเมริกันในฐานะที่ถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่แตกต่างจากพวกคนขาวก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน  (Yang, G. 2017) สถานการณ์ของโลกในต้นศตวรรษที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่า  ปรากฏการณ์การเหยียดเชื้อชาติได้ขยายตัวเป็นวงกว้างไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งทวีความซับซ้อนขึ้นมากกว่าเรื่องการแบ่งขั้วกลุ่มคนผิวสีกับคนผิวขาวอันเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งพื้นฐานในประวัติศาสตร์ของอเมริกา  มาสู่ความหลากหลายของการอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนจากทั่วโลกที่ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเพื่อโยกย้ายเข้าสู่อเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงช่วงโลกาภิวัตน์ ทั้งยังมีเหตุการณ์ 9/11 ที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกกลายเป็นส่วนหนึ่งคู่ความขัดแย้งในอคติเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในอเมริกาและทั่วทุกมุมโลก 


จากเหตุการณ์ที่มีคนผิวดำเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมจากความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการถูกจับกุมโดยตำรวจผิวขาวในสหรัฐอเมริกาในหลายกรณี เช่น กรณีของ George Floyd และ Breonna Taylor ในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความเคลื่อนไหวรณรงค์และประท้วงเรื่อง Black Lives Matter ในปี ค.ศ. 2020  (Karimi, F. 2021) ข้อถกเถียงได้แพร่หลายเป็นวงกว้างไม่เพียงแค่ประเด็นการตายจากความรุนแรงเกินกว่าเหตุและความยุติธรรมที่ควรเกิดขึ้นกับเหยื่อความรุนแรงเหล่านี้ รวมถึงภาพลักษณ์ของโรคระบาดโควิด-19 ที่ถูกมองจากสายตาคนขาวว่าโรคนี้กำเนิดขึ้นที่ประเทศจีน  ทำให้ชาวจีนและชาวเอเชียกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยการทำร้ายร่างกายจากอคติการเหยียดเชื้อชาติที่ซ้อนทับเข้าไปกับปัญหาอคติเชื้อชาติที่สะสมมาในอดีตอีกมากขึ้น ทำให้ประเด็นอคติและการกีดกันคนผิวสีโดยคนขาวอันเป็นปมปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาตินิยมที่มีอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับผู้ที่ถูกกระทำจากความคิดอคติทางเชื้อชาติเหล่านี้ที่ได้ส่งผลต่อเนื่องสู่การต่อต้าน เกลียดชัง และการทำร้ายคนกลุ่มอื่น  เช่น  ชาวเอเชีย ชาวมุสลิม ตลอดจนกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกมองว่าแตกต่างและยังถูกกีดกันอยู่ 


          บทบาทของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติ  ได้นำไปสู่ข้อถกเถียงที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการสร้างวาทกรรมด้านลบต่อประเด็นการมุ่งเน้นความเป็นอัตลักษณ์กลุ่ม  และแบ่งแยกผู้คนให้ออกห่างจากกันมากขึ้น  รวมถึงสร้างภาวะการกดขี่ระหว่างกลุ่มให้เด่นชัดขึ้นอีกในปัจจุบัน ผลของความเคลื่อนไหวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงกฎหมาย สิทธิพลเมือง และการศึกษาของอเมริกา ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจต่อคนขาวบางกลุ่มที่คิดว่าสิทธิคนขาวของพวกตนได้ถูกช่วงชิงไป อีกทั้งสถานการณ์ทางสังคมของอเมริกาภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ผ่านมาได้ขับเน้นอคติทางเชื้อชาติให้รุนแรงขึ้นด้วยนโยบายสนับสนุนคนผิวขาว (Ujifusa A. 2021) ทำให้ปรากฏว่าขบวนการปลดปล่อยเพื่อคนขาวที่เคยเคลื่อนไหวมาก่อนในทศวรรษ 1960 กลับมามีบทบาทอีกครั้งในปัจจุบัน  เป็นผลให้แรงปะทะต่อกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติได้กลับมาเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นอีกครั้งในอเมริกา  ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามโนทัศน์เชื้อชาตินิยมเป็นปัญหารากเหง้าทางสังคมที่ดำเนินมาตลอดประวัติศาสตร์ของการสร้างประเทศสหรัฐอเมริกา  และยังไม่สามารถขจัดอคติทางเชื้อชาติของคนแต่ละกลุ่มที่มารวมกันอยู่ในประเทศนี้อย่างแตกต่างหลากหลาย  อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในอีกมุมหนึ่งของปรากฏการณ์ ด้วยพื้นฐานของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติที่ตั้งอยู่บนคู่ตรงข้ามระหว่างคนขาวหรือชาวยุโรปกับกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ทำให้ทฤษฎีนี้ก็ถูกวิพากษ์กลับในอีกด้านหนึ่งว่าเป็นเครื่องมือของการต่อต้านความคิดเชิงเสรีนิยมของคนขาว ซึ่งได้ทำให้ขบวนการปลดปล่อยเพื่อคนขาวหรือ White liberal ได้กลับมามีบทบาทใหม่เป็นขั้วตรงข้ามและเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มวิพากษ์เชื้อชาติและได้ทำให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงต่ออคติเชื้อชาติให้กลับมาสู่สังคมอเมริกาอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน ภายใต้ปมความขัดแย้งของอคติเชื้อชาติและมโนทัศน์เชื้อชาตินิยมในอเมริกาที่ดำเนินมายาวนานจนถึงปัจจุบันนี้  สถาบันทางการเมือง  กฏหมาย และการศึกษา ของอเมริกาต่างก็ได้ทำงานอย่างหนักหน่วงร่วมกับการเติบโตของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้แนวทางและกระแสความคิดในแบบต่าง ๆ อีกทั้งสถานการณ์เหล่านี้ก็ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาข้อโต้แย้งทางวิชาการจนเกิดเป็นฐานคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือกลุ่มทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติในการต่อต้านความคิดเรื่องเชื้อชาตินิยมในสังคมอเมริกา  โดยที่กลไกเหล่านี้ต่างก็ทำงานกันอย่างเป็นระบบและแข็งขัน เป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างดีว่าประเด็นปัญหาสังคม ความเคลื่อนไหวทางสังคม และการเติบโตของทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติได้เกิดขึ้นและดำเนินไปร่วมกัน จึงน่าจะได้มีการศึกษาเปรียบเทียบในสังคมอื่น ๆ ด้วยว่าหากนำทฤษฎีวิพากษ์เชื้อชาติและความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานี้มาใช้ประยุกต์วิเคราะห์กับสังคมหลายแห่งทั่วโลกที่ยังมีปมความขัดแย้งในเรื่องอคติทางเชื้อชาติอยู่ จะทำให้เห็นแนวทางการศึกษาและทิศทางความเข้าใจในสังคมเหล่านั้นได้อย่างไร     

Article Details

How to Cite
Saiphan, P. (2021). Critical Race Theory and the Coming Back of Racism. Journal of Anthropology, Sirindhorn Anthropology Centre (JASAC), 4(2), 252–260. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/253409
Section
Review Article

References

Crenshaw, K., Gotanda, N., Peller, G., and Thomas, K. (eds.), 1996. Critical Race Theory: The Key Writings That Formed the Movement. New York: The New Press.

Delgado, R. and Stefantic J. 2001. Critical Race Theory: An Introduction. New York and London: New York University Press.

Karimi, F. 2021. “What critical theory is and isn’t it”. CNN, May 10, 2021 Available at https://edition.cnn.com/2020/10/01/us/critical-race-theory-explainer-trnd/index.html (สืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต วันที่ 30 พฤษภาคม 2564).

Matsuda, M.J., Lawrence III, C.R., Delgado R., and Krenshaw, K.W. (eds.) 2018. (1st published 1993). Words That Wound, Critical Race Theory, Assaultive Speech and the First Amendment. New York: Routledge.

Montagu, M.F.A. 1942. Man’s Most Dangerous Myth: The Fallacy of Race. New York: Harper.

Parekh, B. 2010. (1st Published 1997). What is Multiculturalism? In Guibernau, M. and Rex, J. (eds.), The Ethnicity Reader: Nationalism, Multiculturalism and Migration. 238-243. Cambridge: Polity Press.

Sawchuk, S. 2021. “What Is Critical Race Theory, and Why Is It Under Attack?”. EducationWeek, May 18, 2021 Available at https://www.edweek.org/leadership/what-is-critical-race-theory-and-why-is-it-under-attack/2021/05 (สืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต วันที่ 30 พฤษภาคม 2564).

Steinberg, S. 2010. The Liberal Retreat from Race since the Civil Rights Act. In Guibernau, M. and Rex, J. (eds.), The Ethnicity Reader: Nationalism, Multiculturalism and Migration. 355-357. Cambridge: Polity Press.

Ujifusa A. 2021. “Critical Race Theory Puts Educators at Center of Frustrating Cultural Fight Once Again”. EducationWeek, May 26, 2021 Available at https://www.edweek.org/leadership/critical-race-theory-puts-educators-at-center-of-a-frustrating-cultural-fight-once-again/2021/05 (สืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต วันที่ 30 พฤษภาคม 2564).

Yang, G. 2017. “Racism Today versus Racism after 9/11”. Berkley Political Review, October 30, 2017 Available at https://bpr.berkeley.edu/2017/10/30/racism-today-versus-racism-after-911/ (สืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต วันที่ 30 พฤษภาคม 2564).