บทบรรณาธิการ
Main Article Content
Abstract
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
วารสารมานุษยวิทยาฉบับนี้มีการเสนอข้อถกเถียงทางสังคมในหลายประเด็น ตั้งแต่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับรู้ทางผัสสะที่เปลี่ยนจากการมองไปสู่ผัสสะอื่นๆ การทำความเข้าใจชีวิตแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนามที่ดิ้นรนผ่านเครือข่ายนายหน้า การใช้วัตถุเป็นเครื่องมือสำหรับเคลื่อนไหวทางการเมืองและแสดงอุดมการณ์ทางสังคม มรดกความคิดของตะวันตกที่ส่งต่อมายังรัฐบาลอินโดนีเซีย ชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 การทำความเข้าใจความหมายของ “ความยากจน” จากความรู้และแนวคิดที่หลากหลาย และการทำความเข้าใจระบอบอำนาจที่ทับซ้อน บทความของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอการก้าวข้ามทางผัสสะ ซึ่งมนุษย์คุ้นชินกับการใช้การมอง (ดวงตา) เป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจโลกและสรรพสิ่ง หากมนุษย์ใช้ผัสสะประเภทอื่น ความเข้าใจที่มีเกี่ยวกับโลกจะต่างไปจากเดิมอย่างไร ในประเด็นดังกล่าวนี้มาพร้อมกับการถกเถียงเรื่อง “มนุษย์ผู้เป็นศูนย์กลาง” ซึ่งความจริงทางสังคมจะถูกนิยามผ่านประสบการณ์และทัศนคติของมนุษย์เป็นหลัก โดยสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์เป็นเพียงผู้ถูกกระทำและไม่มีบทบาทในฐานะผู้กระทำการแต่อย่างใด เก่งกิจอธิบายว่าการทำความเข้าใจโลกผ่านดวงตาทำให้เกิดการแยกส่วนระหว่างมนุษย์กับสิ่งอื่น ซึ่งในสังคมตะวันตกจะให้ความสำคัญกับการเห็นเหนือกว่าผัสสะชนิดอื่น สิ่งที่ตามมาคือ “การเห็น” กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามนุษย์ฉลาดกว่าสิ่งอื่นและตอกย้ำการเป็นผู้ค้นหาความจริงในโลก ในทางกลับกัน หากมองโลกผ่านเสียงอาจทำให้เห็นการดำรงอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง ตัวอย่างเช่น ผู้พิการทางสายตาใช้เสียงเป็นสื่อเพื่อการรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ การได้ยินจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ “เห็น” การมีอยู่ของสิ่งอื่น เช่นเดียวกับผัสสะของการได้กลิ่น การสัมผัสและการลิ้มรส การเห็นด้วยผัสสะที่หลากหลายนี้อาจทำให้มนุษย์จัดวางความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม และทำให้สิ่งอื่นมีค่าเท่ากับตัวของมนุษย์ บทความของสรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อธิบายในประเด็นเดียวกันว่าการรับรู้ทางผัสสะของคนตามิลในประเทศมาเลเซีย โดยยกกรณีเพลงโศกาขึ้นมาวิเคราะห์ในฐานะเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ ความคิด ความทรงจำและผัสสะที่มีต่อการใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมและการต่อสู้ดิ้นรนทางสังคม ในฐานะที่คนตามิลเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบยากจน และถูกเอารัดเอาเปรียบ สรยุทธเสนอว่าวิธีการทำความเข้าใจชีวิตของมนุษย์อาจต้องศึกษาประสบการณ์ทางผัสสะของผู้คนมากกว่าจะจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องคำบอกเล่าระหว่างผู้ศึกษาและผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น การทำความเข้าใจชีวิตแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนามในบทความของอัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ และเล วัน โตน พยายามเสนอแง่มุมของเครือข่ายนายหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการนำแรงงานเวียดนามเดินทางข้ามแดนผ่านประเทศลาวมายังประเทศไทย ซึ่งมีคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสายสัมพันธ์แบบเครือญาติและเพื่อนฝูงที่มีประสบการณ์ในการหาแรงงานและเข้าใจวิถีทางการทำมาหากินในประเทศไทย งานศึกษานี้นอกจากจะชี้ให้เห็นหน้าที่ของนายหน้าแล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนบริบทโลกที่แรงงานข้ามชาติ คือกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบอบเสรีนิยมใหม่ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ในบทความของปิยรัตน์ ปั้นลี้ อธิบายให้เห็นว่าในการเคลื่อนไหวทางสังคมภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยช่วงปี 2549-2563 คนกลุ่มต่าง ๆ มีการนำวัตถุสิ่งของมาเป็นเครื่องมือสำหรับการแสดงสัญลักษณ์ การบ่งบอกถึงความคิด อุดมการณ์ และเป้าหมายทางการเมือง เช่น มือตบ ตีนตบ นกหวีด เสื้อยืด ชุดคอสเพลย์ ฯลฯ วัตถุเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา และสัมพันธ์กับบริบททางความคิดและประเด็นข้อโต้แย้งทางการเมือง การทำความเข้าใจวัตถุที่ดำรงอยู่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือโจทย์สำคัญสำหรับการมอง “วัตถุ” ในฐานะผู้กระทำการ และเป็นผู้ร่วมสร้างและถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกทางการเมือง บทความของอุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล ศึกษาการจัดแสดงเรื่องราวใน พิพิธภัณฑ์ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งสะท้อนความคิดของชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ที่เข้ามาปกครองอินโดนีเซียในยุคอาณานิคม เรื่องราวที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นบรรทัดฐานของรัฐชาติสมัยใหม่ที่รัฐบาลอินโดนีเซียยุคปัจจุบันยังคงผลิตซ้ำวิธีคิดเกี่ยวกับเชื้อชาตินิยม แนวคิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม การจัดลำดับความเชื่อทางศาสนาที่เชิดชูพุทธและฮินดูเหนือกว่าการนับถือผี วิธีคิดแบบตะวันตกที่ให้คุณค่ากับเหตุผลวิทยาศาสตร์และความมีอารยะ กลายเป็นส่วนประกอบทางสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซีย การศึกษาของบุญเลิศ วิเศษปรีชา อธิบายให้เห็นชีวิตของคนไร้บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชี้ว่าคนไร้บ้านมิได้มองว่าตนเองคือ ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสะท้อนความต้องการที่หลากหลายตั้งแต่การไม่ขอความช่วยเหลือ การอยู่เป็นอิสระ ขอความช่วยเหลือบางส่วน ไปจนถึงการต้องการรายได้เพื่อใช้จ่าย ภาพสะท้อนชีวิตของคนไร้บ้านทำให้เกิดข้อถกเถียงสำหรับการทำงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะความแตกต่างทางความคิดและเงื่อนไขของการมีชีวิตของคนไร้บ้าน ทำให้การช่วยเหลือจำเป็นต้องพิจารณาตามบริบทที่เกิดขึ้น บทความของกนกวรรณ มะโนรมย์ อธิบายเกี่ยวกับความยากจนในสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้จากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง หากแต่ต้องมองจากประสบการณ์และความคิดที่หลากหลายที่ขยายความเข้าใจว่า “ความยากจน” ดำรงอยู่ท่ามกลางประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ที่ต่อสู้ดิ้นรนซึ่งอาจคาดเดาได้ยากว่าจะมีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลง ดังนั้น ความยากจนจึงมิอาจประเมินได้จากมิติทางเศรษฐกิจแบบโดดๆ หรือมองจากระดับการศึกษาและรสนิยมการใช้ชีวิต หากแต่สิ่งที่เรียกว่า “ความยากจน” มีทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น รวมทั้งยังถูกตีความจากทฤษฎีที่ต่างกัน บทความของรวิพล ลี้มิ่งสวัสดิ์ อธิบายแนวคิดอำนาจทับซ้อน (intersectionality) ที่ชี้ให้เห็นเงื่อนไขของการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ เพศภาวะ และความเชื่อทางศาสนา ปัจจัยเหล่านี้มาบรรจบกันจนทำให้ระบอบอำนาจมีความซับซ้อน โดยการตั้งคำถามจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่สนใจความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น และคำถาม จากเฟมินิสต์ที่มองปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจทับซ้อนอาจต้องมองจากหลายมิติร่วมกันเพื่อชี้ให้เห็นกฎระเบียบของทุนนิยมที่ทำงานร่วมกับบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง
Downloads
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ลิขสิทธิ์@ของวารสารมานุษยวิทยา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), กรุงเทพฯ, ประเทศไทย
copyrights@ Journal of Anthropology, Sirindhorn Anthropology Centre (JASAC)
Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre, Bangkok, Thailand
You are free to:
Share — copy and redistribute the material in any medium or format
The licensor cannot revoke these freedoms as long as you follow the license terms.
Under the following terms:
Attribution — You must give appropriate credit, provide a link to the license, and indicate if changes were made. You may do so in any reasonable manner, but not in any way that suggests the licensor endorses you or your use.
NonCommercial — You may not use the material for commercial purposes.
NoDerivatives — If you remix, transform, or build upon the material, you may not distribute the modified material.
No additional restrictions — You may not apply legal terms or technological measures that legally restrict others from doing anything the license permits.
Notices:
You do not have to comply with the license for elements of the material in the public domain or where your use is permitted by an applicable exception or limitation.
No warranties are given. The license may not give you all of the permissions necessary for your intended use. For example, other rights such as publicity, privacy, or moral rights may limit how you use the material.
More Information:
https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0/