Phra Nakanchuna and the teaching of the Middle Way
Main Article Content
Abstract
หนังสือเรื่อง “พระนาคารชุนะ กับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง” เขียนโดย รศ.ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัยเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับทุนสนับสนุนการเขียนตำราจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2547 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ธันวาคม 2548 ที่โรงพิมพ์สำนักพิมพ์ศยาม เพื่อนำเสนอมุมมองว่า ความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันมีอยู่ของสรรพสิ่ง เป็นหลักคำสอนที่พระพุทธศาสนามหายานทุกนิกายต่างก็นำมาตีความให้ความหมายและถกเถียงกันไปตามมติของคณาจารย์ในแต่ละสำนักอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากคำสอนเรื่องดังกล่าว ด้วยกันแทบทั้งสิ้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสำนักพุทธในยุคหลังโดยมากจะพัฒนาหลักคำสอนในเชิงปรัชญา ซึ่งทำให้มีการถกเถียงกันถึงความหมายของคำว่า ความว่าง ทางสายกลาง ว่าหมายถึงอะไร สำนักที่มีชื่อเสียงที่สุดที่พยายามแก้ปัญหาที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้คือ สำนักมาธยมิกะ ผู้วางรากฐานคำสอนคือ ท่านนาคารชุนะ มาธยมิกะแปลว่าผู้นับถือคำสอนเรื่องทางสายกลาง มาธยมิกะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศูนยตวาท หมายถึงคำสอนที่ประกาศความว่างของสิ่งทั้งหลายเป็นเรื่องสำคัญที่แสดงให้เห็นทางสายกลางตามแนวทางที่สำนักนี้สอน แต่ก็เป็นประเด็นที่สร้างปัญหาในการอธิบายคำสอนของสำนักนี้ด้วย
คำสอนมาธยมิกะ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางความคิด มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างเหตุผลที่ดีที่สุด สำนักพุทธใหญ่ๆ ที่ได้รับการยอมรับในเวลานั้นส่วนใหญ่จะมีความอธิบายที่ต่างกันในเรื่องนี้ และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมสงฆ์ สภาพสังคมชาวพุทธในอินเดียเวลานั้นมีความวุ่นวายสาเหตุเพราะพระภิกษุที่เป็นนักคิดมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน และตีความพระธรรมวินัยไปตามจริตของแต่ละคน ทำให้ความเชื่อเป็นไปคนละทิศละทางหาทางปรองดองกันไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ชาวพุทธผู้ที่ต้องการแสวงหาที่สุดแห่งความเชื่อหันหลังให้กับศรัทธาที่เคยมีต่อพระธรรมและพระสงฆ์ ทวนเข็มกลับไปสู่การศึกษาเรื่องราวของพระพุทธเจ้ากันใหม่
Article Details
References
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2548). พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง. กรุงเทพมหานคร: ศยาม.