ธรรมยาตรา เยือนถิ่นครูบาเมืองลี้: แนวทางการพัฒนาเส้นทาง ท่องเที่ยวเพื่อสักการะครูบาในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประวัติของครูบาล้านนาที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 2) เพื่อศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสักการะครูบาในเขตอำเภอลี้ 3) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสักการะครูบาในเขตอำเภอลี้ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ พื้นที่วิจัย คือ วัดและศาสนสถานที่เคยเป็นที่จำพรรษาของครูบา 3 รูป ในอำเภอลี้ 3 แห่ง ได้แก่ วัดบ้านปาง วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และวัดพระพุทธบาทผาหนาม กลุ่มตัวอย่าง 420 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยว 400 คน ใช้วิธีคัดเลือกแบบบังเอิญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 20 คน ใช้วิธีคัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือวิจัยมี 3 ชนิด คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม แล้วเขียนบรรยายเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า 1) อำเภอลี้เป็นถิ่นกำเนิดของครูบา 3 รูป คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) และครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา ซึ่งเป็นอริยสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนล้านนาและพุทธศาสนิกชนทั่วไป 2) วัดและศาสนาสถานทั้ง 2 แห่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาสูง เพราะมีประวัติที่เกี่ยวเนื่องกับครูบาทั้ง 3 รูป มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สวยงามและเป็นที่เคารพของประชาชน 3) แนวทางการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสักการะครูบาในเขตอำเภอลี้ที่สำคัญ คือ (1) ด้านภาพลักษณ์ ควรสร้างภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อสมัยใหม่เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว (2) ด้านกิจกรรม กำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับแหล่งท่องเที่ยวให้อยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยยังคงรักษารูปแบบ และพิธีกรรมเดิมไว้ (3) ด้านวิถีชีวิต ควรรักษาแบบแผนการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์ที่หลากหลายและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาในพื้นที่ไว้ผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม