ความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

Main Article Content

ศรีสุภา นาคธน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี 2) เปรียบเทียบความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดตามตัวแปร เพศ คณะวิชา ชั้นปีที่ศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถี่ในการใช้ห้องสมุด และประสบการณ์การเรียนรายวิชาการใช้ห้องสมุด/การรู้สารสนเทศ  3) ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดกับการตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุด ทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด และบริการของห้องสมุด และ 4) ความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดกับการเห็นความสำคัญของห้องสมุดต่อการสำเร็จการศึกษา


กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ปีการศึกษา 2558 จำนวน 843 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามที่มีข้อคำถามเกี่ยวกับความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุด แยกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านผู้ให้บริการ 2) ด้านความรู้สึกจากตัวผู้ใช้บริการ 3) ด้านความรู้สึกสบายในห้องสมุด 4) ด้านความรู้ในการใช้ห้องสมุด และ 5) ด้านเครื่องจักรกลภายในห้องสมุด จำนวนข้อคำถาม 43 ข้อ  ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-25 มีนาคม 2559 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  t–test,  F-test และการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน


ผลการวิจัย พบว่า 1) ระดับความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อจำแนกตามรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับน้อยทุกด้านเช่นกัน 2) เปรียบเทียบระดับความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษาจำแนกตามตัวแปรต่าง ๆ พบความแตกต่างในตัวแปรคณะวิชา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความถี่ในการใช้ห้องสมุด และประสบการณ์การเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ห้องสมุด/การรู้สารสนเทศ  3) ความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษา มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำมากกับการตระหนักถึงความสำคัญของห้องสมุด/ทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด/และบริการของห้องสมุด และ 4) ความวิตกกังวลในการใช้ห้องสมุดของนักศึกษา มีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำมากกับการเห็นความสำคัญของห้องสมุดต่อการสำเร็จการศึกษา

Article Details

บท
บทความวิจัย