ปัจจัยที่สัมพันธ์กับจิตลักษณ์และพฤติกรรม : การสังเคราะห์ปริญญานิพนธ์ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Authors

  • ปรีดา เบ็ญคาร (Preeda Benkan)
  • วัลนิกา ฉลากบาง (Wannika Chalakbang)
  • เรวดี ทรงเที่ยง (Rewadee Songtiang)
  • เพ็ญศรี กองสัมฤทธิ์ (Pensri Kongsamrit)
  • มารศรี กลางประพันธ์ (Marasri Klangprapan)

Abstract

บทคัดย่อ

 

สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์เปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษามาเป็นเวลา 18 ปี (พ.ศ. 2527 – ปัจจุบัน) ทำให้มีงานวิจัยที่เป็นปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวน 82 เล่ม งานวิจัยดังกล่าวได้ค้นพบข้อความรู้และยืนยันทฤษฎีต่าง ๆ ทั้งที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน ตัวแปรตามตัวเดียวกันหรือศึกษาจากกลุ่มประชากรเดียวกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการวิจัยในโอกาสต่อไปไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและนำข้อบกพร่องของงานวิจัยหรือข้อค้นพบที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลการวิจัยและข้อค้นพบที่มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น การสังเคราะห์งานวิจัยจึงมีความจำเป็นต่อความก้าวหน้าของการวิจัยในสาขาพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การสังเคราะห์งานวิจัยยังเป็นประโยชน์ต่อวิธีดำเนินการวิจัยของนักวิจัยเพราะจะช่วยให้รู้ชัดถึงสาระปัจจุบันของข้อค้นพบเกี่ยวกับปัญหาการวิจัยอันจะเป็นประโยชน์โดยทั่วไปในการเข้าใจขอบเขตการสะสม  การงอกงามขององค์ความรู้ในสาขานั้น (สุวัฒนา สุวรรณเขตนิคม, 2530:52) และยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดสมมุติฐานในการวิจัยให้มีคุณภาพอีกด้วย

 

ในปัจจุบันนักวิจัยทุกสาขาให้ความสำคัญกับการสังเคราะห์งานวิจัยมากขึ้น เพราะแต่ละสาขามีงานวิจัยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หากไม่มีการนำเอาผลการวิจัยที่หลากหลายเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นการสูญเปล่าทางการลงทุน (สุพัฒน์ สุกุมลสันต์, 2532: 12) เพื่อให้เห็นภาพรวมของงานวิจัยในสาขาพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ว่าได้มีการศึกษาไปแล้วในแง่ใดบ้าง มีข้อค้นพบและได้องค์ความรู้ด้านใดและยังขาดการศึกษาวิจัยด้านใด เพื่อจะได้เป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยในสาขานี้ต่อไปในอนาคต ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะสังเคราะห์ปริญญานิพนธ์สาขาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ตามกรอบทฤษฎีต้นไม้จริยธรรม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยของประเทศไทยโดยทำการสังเคราะห์เชิงปริมาณด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (Meta Analysis) สำหรับปริญญานิพนธ์ที่มีการรายงานค่าสถิติที่สามารถนำมาสังเคราะห์ได้ และสังเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) สำหรับปริญญานิพนธ์ที่ศึกษาเชิงคุณภาพ

Downloads

How to Cite

(Preeda Benkan) ป. เ., (Wannika Chalakbang) ว. ฉ., (Rewadee Songtiang) เ. ท., (Pensri Kongsamrit) เ. ก., & (Marasri Klangprapan) ม. ก. (2012). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับจิตลักษณ์และพฤติกรรม : การสังเคราะห์ปริญญานิพนธ์ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. The Periodical of Behavioral Science, 11(1). Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/BSRI/article/view/2027