ปัจจัยเชิงเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา: การวิเคราะห์เส้นทางอิทธิพล

Authors

  • ดุจเดือน (Duchduen) พันธุมนาวิน (Bhanthumnavin) รองศาสตราจารย์ ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Abstract

Antecedents of Mindful Risk-Taking Behavior in Secondary School Students: A Path Analytic Approach

บทคัดย่อ

การวิจัยความสัมพันธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาอิทธิพลทางตรงและอิทธิพลทางอ้อมของจิตลักษณะและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติ กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยนี้ คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 1,520 คน ประกอบด้วย นักเรียนเพศชายจำนวน 683 คน (44.9%) และนักเรียนเพศหญิงจำนวน 837 คน (55.1%) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 16.83 ปี ใช้วิธีการสุ่มแบบการแบ่งขั้นกำหนดโควต้า จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอยุธยา ตัวแปรในงานวิจัยนี้มี 6 กลุ่มตัวแปร กลุ่มตัวแปรแรกจำนวน 5 ตัวแปรเป็นกลุ่มตัวแปรจิตลักษณะเดิม ได้แก่ ลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ความเชื่ออำนาจในตน เอกลักษณ์ทางจริยธรรม และสุขภาพจิต กลุ่มตัวแปรที่สองคือ กลุ่มตัวแปรสถานการณ์ จำนวน 5 ตัวแปร ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนและใช้เหตุผล  การมีแบบอย่างที่ดีด้านเสี่ยงอย่างมีสติจากผู้ปกครอง  การเห็นแบบอย่างจากสื่อด้านการเสี่ยงอย่างมีสติ  การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง  และการอบรมปลูกฝังด้านเสี่ยงอย่างมีสติจากสถานศึกษา กลุ่มตัวแปรที่สาม คือ กลุ่มตัวแปรจิตลักษณะตามสถานการณ์ มีจำนวน 4 ตัวแปร ได้แก่ ทัศนคติที่ดีต่อพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติ ความพร้อมที่จะเสี่ยงอย่างมีสติ การมีภูมิคุ้มกันตนด้านการคบเพื่อน และการมีภูมิคุ้มกันตนทางจิต กลุ่มตัวแปรที่สี่ คือ กลุ่มตัวแปรความสำเร็จในชีวิต ประกอบด้วย 2 ตัวแปร ได้แก่ ความผาสุขในชีวิต และผลการเรียน กลุ่มตัวแปรสุดท้าย คือ กลุ่มตัวแปรตามที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติ ประกอบด้วย 4 ตัวแปร ได้แก่ พฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีมีสติด้านการคบเพื่อน  พฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติด้านการเดินทาง  พฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติด้านการกิน  และพฤติกรรมสนับสนุนให้เพื่อนเสี่ยงอย่างมีสติ ผลการวิเคราะห์เส้นทางอิทธิพล ปรากฏว่า จิตลักษณะเดิมและสถานการณ์มีอิทธิพลทางอ้อมไปยังพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติ โดยผ่านจิตลักษณะตามสถานการณ์ (R2 = 0.88) และความสำเร็จในชีวิต (R2 = 0.93) จึงกล่าวได้ว่า จิตลักษณะตามสถานการณ์ และความสำเร็จในชีวิตเป็นตัวแปรเชื่อมแทรกที่มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติในนักเรียนวัยรุ่นไทย โดยสามารถอธิบายความแปรปรวน (R2) ของพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติได้ 0.95  ผลจากงานวิจัยนี้ได้ชี้แนะแนวทางการวิจัยที่สำคัญและแนวทางในการจัดการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติในเยาวชนไทยต่อไป

 

คำสำคัญ:ปัจจัยเชิงเหตุ  พฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติ  นักเรียนมัธยมศึกษา  การวิเคราะห์เส้นทางอิทธิพล


Downloads

Published

2015-01-31

How to Cite

พันธุมนาวิน (Bhanthumnavin) ด. (Duchduen). (2015). ปัจจัยเชิงเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงอย่างมีสติของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา: การวิเคราะห์เส้นทางอิทธิพล. The Periodical of Behavioral Science, 21(1). Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/BSRI/article/view/29900