การศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกกของจังหวัดจันทบุรี

ผู้แต่ง

  • บุศรินทร์ สายรัตน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

การถ่ายทอดความรู้, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, การทอเสื่อกก

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้เป็นการศึกษารูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก และศึกษากระบวนการผลิตที่ส่งผลต่อ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม ในแต่ละท้องถิ่นของจังหวัดจันทบุรี การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษารูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการผลิตเสื่อกก ของจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎี การจัดการความรู้ (KM) ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการศึกษาจากแหล่งข้อมูล คือ ชุมชนที่มีอาชีพเป็นช่างทำเสื่อ ทั้งหมด 6 ชุมชน และโรงเรียนที่อยู่ในชุมชน 2 โรงเรียน อันได้แก่ ชุมชนบางสระเก้า, ชุมชนบ้านเสม็ดงาม, ชุมชนบ้านเขาน้อย, ชุมชนบ้านท่าแฉลบ, ชุมชนหลังวัดโรมันคาทอลิก, ชุมชนบ้านเกาะโตนด, ศูนย์ศิลป์เสื่อตำบลบางสระเก้า, โรงเรียนวัดบางสระเก้า (พิสิฏฐวิทยาคาร) ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี (ชุมชนบางสระเก้า), โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ.จันทบุรี (ชุมชนหลังวัดโรมันคาทอลิก) และผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ นักวิชาการศูนย์ศิลป์เสื่อ หัวหน้าศูนย์ศิลป์เสื่อ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ช่างทอเสื่อ และปราชญ์ท้องถิ่น ทั้งหมด 6 ชุมชน รวมถึงครูผู้สอนการทอเสื่อในโรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ดังนี้ 1.แนวคำถามสำหรับการสัมมนากลุ่มย่อยในประเด็นที่เกี่ยวกับ รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก ของจังหวัดจันทบุรี และกระบวนการผลิตที่ส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และวัฒนธรรม 2.แบบสัมภาษณ์ รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก ของจังหวัดจันทบุรี และกระบวนการผลิตที่ส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และวัฒนธรรม และสามารถสรุปผลการค้นคว้าได้ดังนี้ รูปแบบการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทอเสื่อกก ของจังหวัดจันทบุรี สามารถสรุปผลการค้นคว้า ได้เป็น 2 ลักษณะ 1. การถ่ายทอดความรู้แบบนอกระบบ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ในครอบครัว และ ศูนย์หัตถกรรมทอเสื่อ 2. การถ่ายทอดความรู้แบบในระบบ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ในโรงเรียนวัดบางสระเก้า (พิสิฎฐวิทยาคาร) ตำบลบางสระเก้า และ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี โดยการถ่ายทอดความรู้ชุมชนเกิดจากการที่สมาชิกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือกันทุกขั้นตอน ได้แก่ 1) ร่วมกันวางแผนกำหนดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ 2) ร่วมกันปฏิบัติตามแผนและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายรวมถึงมอบหมายให้ผู้รู้หรือครูถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ 3) ร่วมกันประเมินผลการดำเนินการ 4) ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินการ ในส่วนของกระบวนการผลิตที่ส่งผลต่อ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม พบว่า ทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เพราะทุกชุมชนที่มีอาชีพทอเสื่อกกจะมีการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ที่สร้างธุรกิจที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อให้เกิดรายได้หลักหรือรายได้เสริม เพื่อเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อกันระหว่างชุมชนบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต การจำหน่าย การส่งต่อผลิตภัณฑ์ การหยิบยืมอุปกรณ์บางชนิดที่ตนเองไม่มี หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ตนเองไม่สามารถผลิตเองได้ ทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างกัน และเป็นการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอีกด้วย อีกทั้งยังสร้างความเข้มแข็งให้กับอาชีพการทอเสื่อกกของจังหวัดจันทบุรี ภายในชุมชนนั้นยังมีการรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อสร้างสรรค์ผลงานการทอเสื่อกกเป็นผืน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วม เป็นการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงาม รวมไปถึงสร้างความตะหนักในการดำรงชีวิตในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

Author Biographies

บุศรินทร์ สายรัตน์ , คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า , คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

References

โกสุม เจริญรวย. (2551). การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ. จันทบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี.

สุเทพ สุสาสนี. (2553). การศึกษาผลิตภัณฑ์จากกกในตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี. (ปริญญานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาศิลปศึกษา.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-07