การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการวิเคราะห์อภิมาน
คำสำคัญ:
สังเคราะห์งานวิจัย, การจัดการเรียนการสอนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาคุณลักษณะงานวิจัยเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) เพื่อเปรียบเทียบค่าขนาดอิทธิพลที่จำแนกตามคุณลักษณะงานวิจัยของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ คือ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พิมพ์เผยแพร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 – 2558 จำนวน 34 เรื่อง คำนวณค่าขนาดอิทธิพลด้วยการวิเคราะห์อภิมานตามวิธีการของกลาส แม็คกรอ และสมิทธ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินคุณภาพงานวิจัย และแบบบันทึกคุณลักษณะงานวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว
ผลการศึกษาพบว่า 1) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นของงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยภาพรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับดี งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ทั้งหมดมีจำนวน 34 เรื่อง พบว่า งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ตีพิมพ์มากที่สุดในปี พ.ศ.2554, พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2557 สถาบันที่ผลิตงานวิจัยมากที่สุด คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร สาขาที่ผลิตงานวิจัยมากที่สุดคือ สาขาหลักสูตรและการสอน สาขาวิจัยและประเมิน/วิจัยและพัฒนาการศึกษาระดับการศึกษาของผู้วิจัยที่มากที่สุดคือ ระดับปริญญาโท รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่พบมากที่สุดคือการเรียนการสอนตามแนวทฤษฏี Constructivism กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่จัดการเรียนการสอนมากที่สุดคือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผลของการจัดการเรียนรู้ที่พบมากที่สุดคือ ด้านพุทธิพิสัย ระดับชั้นของประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระยะเวลาในการทดลองที่มากที่สุดคือ มากกว่า 30 ชั่วโมง นิยามศัพท์เฉพาะที่นิยามมากที่สุดคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวนตัวแปรต้นมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.35 จำนวนตัวแปรตามมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.26 จำนวนประชากรมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 216.12 คนจำนวนของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.29 จำนวนประชากรของกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 31.97 คน จำนวนประชากรของกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 31.71 คน วัตถุประสงค์ของการวิจัยที่พบมากที่สุดคือ การเปรียบเทียบ สมมุติฐานของงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นสมมุติฐานแบบมีทิศทาง แบบแผนของการวิจัยส่วนใหญ่เป็นแบบแผนการวิจัยแบบทดลองแบบ One group pretest – Posttest design รูปแบบการสุ่มกลุ่มตัวอย่างที่ใช้มากที่สุดคือการเลือกแบบเจาะจงประเภทเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ใช้มากที่สุดคือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การทดสอบคุณภาพของเครื่องมือมีการตรวจสอบทั้ง 4 ด้าน คือ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความยากง่าย และอำนาจจำแนก สถิติพื้นฐานที่ใช้มากที่สุดคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที่ใช่ในงานวิจัยมากที่สุดคือ t – test ผลการวิจัยที่พบมากที่สุดคือ คะแนนสอบหลังเรียนของนักเรียนสูงกว่าก่อนเรียน การอภิปรายผลของงานวิจัยส่วนใหญ่จะมีการอภิปรายผลสอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา 2) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการเปรียบเทียบค่าขนาดอิทธิพลของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 6 วิธี คือ 1) การจัดการเรียนการสอนตามแนวทฤษฏี Constructivism 2) การเรียนการสอนแบบกลุ่มร่วมมือ 3) การจัดการเรียนการสอนแบบเน้นประสบการณ์ 4) การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี 5) การเรียนการสอนแบบบูรณาการ 6) การเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบค่าขนาดอิทธิพลของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาพรวม พบว่าไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้จำแนกผลของการเรียนรู้ของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูมทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย พบว่า ผลของการเรียนรู้ของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาพุทธิพิสัยที่ดีที่สุดคือ การจัดการเรียนการสอนตามแนวทฤษฏี Constructivism เพื่อพัฒนาจิตพิสัยที่ดีที่สุดคือ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี และเพื่อพัฒนาทักษะพิสัยที่ดีที่สุดคือ การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบค่าขนาดอิทธิพลของการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทั้ง 3 ด้าน พบว่าไม่แตกต่างกัน
References
กมลพร สิบหมู่. (2562). สังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดดใช้เทคนิค SQ4R เพื่อเพิ่มผลลัพธ์การอ่านจับใจความของนักเรียน : การวิเคราะห์อภิมาน. วารสารการวัดผลการศึกษา, 36(100), 150–159.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). การวิจัยและพัฒนาศักยภาพเด็กไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
จีรศักดิ์ ยาโน. (2553). การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับวิธีจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การวิเคราะห์อภิมาน. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สาขาการวัดผลการศึกษา.
นงลักษณ์ วิรัชชัย และสุวิมล ว่องวาณิช. (2541). การสังเคราะห์งานวิจัยทางการศึกษาด้วยวิเคราะห์
อภิมานและการวิเคราะห์เนื้อหา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรียานุช พิบูลสราวุธ และระวิวรรณ ภาคพรต. (2550ก). กรอบแนวคิดในการจัดทำร่างหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้าวิชาการ.
วีระพันธ์ ดอนท้วม. (2561). โมเดลสมการโครงสร้างที่มีอิทธิพลต่อผลสำเร็จในการบริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. วารสารการวัดผลการศึกษา, 35(98), 24–37.
ศิริพร ข่าขันมะลี. (2559). การสังเคราะห์งานวิจัยการจัดการเรียนการสอนเคมีที่ส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการวิเคราะห์อภิมาน. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สาขาวิชาการวิจัยและประเมินผลการศึกษา.
สีลาภรณ์ บัวสาย. (2549). เศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเรียนรู้ สายข่าย ขยายผล. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.).
อุทุมพร จามรมาน. (2531). การสังเคราะห์งานวิจัย: เชิงปริมาณ. กรุงเทพฯ: พันนี่พับบลิชชิ่ง.
Glass, G.V. (1976). Primary Secondary and Meta – analysis of Research. Education Research. 52(07), 117 – 125 ; March.
Glass, G.V. and others. (1981). Meta – analytic Procedures for Social Research. U.S.A: Sage Publication Beverly Hills.
Rosenthal, R. (1991). Meta – Analytic Procedures for Social Research. Newbury Park:
Sage Publications.