การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา
คำสำคัญ:
การพัฒนา, คุณภาพชีวิต, พระพุทธศาสนาบทคัดย่อ
การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นการพัฒนาโดยการบูรณาการหลักอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ ในการดำเนินชีวิตสำหรับปุถุชนทั่วไป คือการใช้ปัญญาในการปรับทัศนะให้ถูกต้องตามธรรม (สัมมาทิฏฐิ) ทำความคิดให้ถูกต้องตามธรรม (สัมมาสังกัปปะ) ถึงตอนพูดก็พูดคำที่ถูกต้องชอบธรรม เป็นไปเพื่อความสมัครสมานสามัคคี เป็นคำมีประโยชน์ ไม่เป็นคำเท็จ ไม่เป็นคำหยาบ ไม่เป็นคำเพ้อเจ้อและไม่เป็นคำส่อเสียด (สัมมาวาจา) พอถึงขั้นลงมือกระทำ ก็กระทำการที่เป็นไปตามหลักศีลธรรม (สัมมากัมมันตะ) พอถึงการประกอบอาชีพก็ประกอบอาชีพที่เป็นไปตามศีลธรรม ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (สัมมาอาชีวะ) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกระบวนการวางรากฐานและสร้างรากฐานให้มีความมั่นคง และเป็นขั้นต้นของการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาเท่านั้นเอง ยังมิใช่กระบวนการเพื่อการพัฒนา กระบวนการต่อมา คือ การใช้สติกำกับพิจารณาสำรวจตรวจสอบให้รู้ชัดแจ้งในฐานกาย เวทนา จิต และธรรมแล้ว (สัมมาสติ) จึงค่อยดำเนินการตามกระบวนการแห่งสัมมาวายามะ ซึ่งถือเป็นขั้นปฏิบัติการอันเป็นส่วนสำคัญแห่งธรรมที่ต้องเจริญให้มาก จนกระทั่งให้เกิดความมั่นคง (สัมมาสมาธิ) ก็จะสามารถบรรลุถึงความดับทุกข์ได้แน่นอน หรือแม้แต่เป้าหมายชีวิตในระดับโลกิยะของผู้เป็นปุถุชนคนธรรมดา หากดำเนินการตามกระบวนการแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างนี้แล้ว ย่อมสามารถบรรลุเป้าหมายที่ประสงค์ของการดำเนินชีวิตที่ต้องการได้ การดำเนินชีวิตเช่นนี้จึงถือเป็นชีวิตที่มีคุณภาพและมีความมั่นคงตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
References
นิพนธ์ คันธเสวี. “คุณภาพชีวิต.” ใน การศึกษาและวัฒนธรรม ประมวลบทความทางวิชาการ, สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชนจำกัด, ๒๕๒๖.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี. ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๐๐.
___________. พระไตรปิฎกภาษาไทย. ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน : พุทธศาสนากับ สังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๔๗.
สัมพันธ์ พิชยทายา. “แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนค่ายทหารกองทัพบกมุ่งสู่ชุมชนเข้มแข็ง.” วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยบูรพา, ๒๕๔๙.