การบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
คำสำคัญ:
การบริหารจัดการศาสนสมบัติ, การมีส่วนร่วมของชุมชน, วัดในเขตเมือง, วัดในเขตชนบทบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้เป็นบทความวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลโครงการวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการศาสนสมบัติในพุทธศาสนาของประเทศไทย” เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาการจัดการศาสนสมบัติของวัดในพุทธศาสนาในประเทศไทยที่มีประสิทธิผล การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (MixMethod) ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และคุณภาพ (Qualitative Research) ทั้งนี้ในบทความวิจัยชิ้นนี้ได้นำข้อมูลจากการวิจัยเชิงคุณภาพมานำเสนอและเขียนบทความวิจัย ซึ่งใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 รูปแบบด้วยกันคือ 1) การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการค้นคว้าเอกสารทางวิชาการจากฐานข้อมูลระดับชาติ ใช้คำสำคัญในการค้นหาข้อมูล คือ การบริหารจัดการศาสนสมบัติของวัด การบริหารจัดการวัด การมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการวัด/ศาสนสมบัติ เป็นต้น ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ร่วมวิจัย อันประกอบด้วย เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และไวยาวัจกร โดยเกณฑ์การคัดเลือกผู้ร่วมวิจัยนั้น จะคัดเลือกบุคลากรของวัดที่ปฏิบัติหน้าที่หรือทำหน้าที่หลักในการดูแลศาสนสมบัติของวัด เป็นผู้มีประสบการณ์ และมีความรู้ ในเรื่องการบริหารจัดการศาสนสมบัติ รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 รูป/คน ผลการศึกษาพบว่า
วัด เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัด ดังนี้คือ 1) การร่วมคิด 2) การร่วมตัดสินใจ 3) มีส่วนร่วมในการปฏิบัติ และ4) มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินกิจกรรม ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนทำให้เกิดการบริหารจัดการวัดอย่างมีประสิทธิผล