กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • ฐิติวัฒน์ เพชรถิรสวัสดิ์ Narongchai

คำสำคัญ:

ภูมิปัญญาท้องถิ่น, กระบวนการ, การพึ่งตนเอง

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาประวัติความเป็นมาและภูมิปัญญาของชาวบ้านกลุ่มผู้จักสานปลาตะเพียนใบลานและกลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมไทย ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2. ศึกษากระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 3. นำเสนอแนวทางการส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ในตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยทำการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Analysis) กับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitive Research) เพื่อให้ทราบถึงประเด็นของการศึกษาในรายละเอียดที่สำคัญ และมีความครอบคลุมในเนื้อหาสาระสำคัญที่ทำการศึกษาอย่างครบถ้วน พร้อมกันนั้น ในการวิจัยเชิงคุณภาพจะทำให้ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกที่มีรายละเอียดชัดเจน ก่อนที่จะนำเสนองานวิจัยต่อสาธารณะ

ผลการวิจัย พบว่า

  1. ปลาตะเพียนสานใบลาน เกิดจากวิถีชีวิตประจำวันและความเชื่อ ที่ว่าปลาตะเพียนเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในลุ่มน้ำภาคกลาง เริ่มต้นจากการใช้ใบมะพร้าวสานเป็นรูปปลาตะเพียน ต่อมาเพื่อความคงทนมากขึ้น จึงนิยมเอาใบลานมาสานขัดกันเป็นปลาตะเพียนจำลอง ตัวขนาดใหญ่บ้าง ขนาดเล็กบ้าง แล้วจับผูกกันเข้าเป็นพวงสำหรับแขวนไม้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อน เพื่อให้เป็นสิ่งมงคลแก่เด็กจะได้เจริญเติบโตเลี้ยงง่าย และมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านภูเขาทองได้รับสืบทอดการสานปลาตะเพียนใบลานมาจากรุ่นสู่รุ่น ภายในครอบครัวของตนเอง ส่วนขนมไทย (ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน) นั้น มีที่มาจากชาวโปรตุเกสเป็นผู้คิดค้นทำขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่รู้จักกันในชื่อว่า ท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นขนมที่มีวัตถุดิบคือไข่เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ มีรสชาติหวานอร่อย แต่ไม่มีกลิ่นคาวของไข่ และชื่อที่เป็นมงคล จึงทำให้ได้รับความนิยมในงานพิธีต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย การสืบทอดการทำขนมไทย (ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน) เป็นการสืบทอดกันภายในครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกัน
  2. กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาเพื่อการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งกลุ่มผู้จักสานปลาตะเพียนใบลาน และกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทย มีวิธีการถ่ายทอด 4 วิธี ด้วยกัน คือ 1) การสาธิต คือแสดงหรือกระทำพร้อมกับการบอกหรืออธิบายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ตรงในเชิงรูปธรรม ซึ่งทำให้เข้าใจวิธีการ ขั้นตอน และสามารถปฏิบัติได้ 2) การบอกเล่า โดยบอกเล่าอธิบาย หรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สั่งสมมาในรูปของคำพูด 3) การปฏิบัติ เป็นการลงมือกระทำจริงในสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง โดยจะคอยแนะนำ ตรวจสอบและแก้ไข เพื่อให้กระบวนการปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอน ทำให้ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ไปทีละน้อย และ 4) การเรียนรู้ โดยการจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ เช่น สถานที่ผู้ประกอบการ ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น โดยจัดเป็นกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งรวมถึงลักษณะการถ่ายทอดแบบครูพักลักจำด้วย

References

จินต์ประวีร์ เจริญฉิม และสิริชัย ดีเลิศ, “กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุสู่ชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน”, บทความวิจัย, วารสารปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ, ปีที่ 33 ฉบับที่ 2: 152-167.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนและชนชาติไทย, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540), หน้า 15.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา: Discovering Ayutthaya, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), หน้า 32.

ทัศพร ศรเกตุ,“อาหารไทย ขนมไทย และอาหารพื้นเมืองของไทย”, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.silpathai.com/thaifood [20 กันยายน 2564].

ธัญธัช วิภัติภูมิประเทศ, ดร., “การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของปราชญ์ชาวบ้าน: กรณีศึกษาวงกลางยาว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์”, รายงานการวิจัย, (กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2533), หน้า ก.

บุญส่ง เรศสันเทียะ, "ปลาตะเพียนใบลาน : ศิลปะและภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับความอยู่รอดในระบบการตลาดแบบเสรี", วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2553).

รัชฎาพร เกตานนท์. “แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดนครปฐม”, บทความวิจัย, วารสาร Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, ปีที่ 10 ฉบับที่ 1: 999.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-29