Economic and Financial Crime, Sustainability and Good Governance

Main Article Content

Supattra Apichaimongkol
Anuwat Phakdee

Abstract

อาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศและทั่วโลกในหลายด้าน เช่น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค การทุจริตคอรัปชั่นในตลาดทุน ความเชื่อต่อกิจการ
ความปลอดภัยและความมั่นคง ผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อการป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในการกำหนดกลไกการป้องกัน และสร้างความตระหนักรู้ในระดับบุคคลจนถึงระดับนโยบายของประเทศ


              หนังสือเรื่อง Economic and Financial Crime, Sustainability and Good Governance มีเนื้อหาที่อธิบายถึงประเด็นอาชญากรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายตามลำดับเวลา เช่น การฉ้อโกงในกิจการ การทุจริต การฉ้อโกงทางภาษี เศรษฐกิจนอกระบบหรือเศรษฐกิจเงา ผู้ประกอบการนอกระบบ การฟอกเงิน กระแสทุนนอกระบบ อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ การฉ้อโกงในสกุลเงินดิจิทัลในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการระบาดของ Covid-19 อาชญากรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในลักษณะของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ ที่มีผลต่อความมั่นคงทางการเงินของประชาชน รวมถึงประเด็นทางด้านธรรมาภิบาลที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความยั่งยืนอาจไม่สำเร็จหากยังไม่มีกลไกที่เข้มแข็งในการป้องกันกับอาชญากรรมทางการเงิน


              หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอาชญากรรมทางการเงินกับธรรมาภิบาลใน
การนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงวัฒนาการของอาชญากรรมทางการเงินประเภท
ต่าง ๆ ตามลำดับ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเนื้อหาภายในเล่มแบ่งออกเป็น 4 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
1) อาชญากรรมทางการเงินทั่วโลก: ภูมิทัศน์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 2) ปัจจัยกำหนดทางเศรษฐกิจและการเมืองของอาชญากรรมทางการเงิน 3) ผลกระทบของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินต่อสังคม และ 4) การเผชิญกับอาชญากรรมทางการเงินเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเนื้อหารวมทั้งหมดเท่ากับ 15 บท ดังนี้


ส่วนแรก มีเนื้อหา 3 บท ครอบคลุมระดับของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก การเพิ่มระดับ
การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางภาษี การทุจริต การฟอกเงิน การฉ้อโกงในระบบธนาคาร และการคอร์รัปชั่นในประเทศต่าง ๆ


ส่วนที่ 2 มีเนื้อหา 2 บท โดยมุ่งเน้นไปที่การเกษตร การจ่ายเงินสดเป็นค่าจ้างแรงงาน การสร้างขวัญกำลังใจ
ความไว้วางใจ ความไว้วางใจในหน่วยงานด้านภาษีและประกันสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง
เป็นปัจจัยสำคัญของระดับการเป็นผู้ประกอบการนอกระบบ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่าภาษีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเงา


ส่วนที่ 3 มีเนื้อหา 5 บท โดยสะท้อนผลกระทบของการคอร์รัปชั่นต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ผลกระทบของอาชญากรรมไซเบอร์ต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในยุคดิจิทัล ผลกระทบของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินต่องบประมาณภาครัฐและคุณภาพการบริการสาธารณะ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือผลกระทบด้านลบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและการพัฒนาธุรกิจ


ส่วนที่ 4 มีเนื้อหา 5 บท โดยสะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับการเผชิญกับอาชญากรรมทางการเงินในการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งอธิบายถึงนโยบายและกรอบการกำกับดูแลเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน การพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ภาพรวมของการบัญชีนิติวิทยา ประสิทธิภาพในการตรวจสอบและการป้องกันการฉ้อโกง
การโจมตีทางไซเบอร์ การเข้ารหัสลับและความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการพิจารณากรอบการให้ความเชื่อมั่นและการป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์


หนังสือเล่มนี้ถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้บริหารในการทำความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการ หน่วยงานกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยในการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงินทุกประเภท ถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

Article Details

How to Cite
Apichaimongkol, S., & Phakdee, A. (2024). Economic and Financial Crime, Sustainability and Good Governance. RMUTP Journal of Business and Innovation Management, 3(1), 96–98. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/RMUTP_JBI/article/view/274996
Section
Book Review