การตรวจสอบอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยศาลปกครองและศาลยุติธรรม

ผู้แต่ง

  • ประเสริฐ สิทธินวผล สำนักงานอัยการจังหวัดพะเยา

คำสำคัญ:

การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ, ความผิดทางวินัย, เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหา

บทคัดย่อ

การให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษอยู่สองสถานด้วยการไล่ออกหรือปลดออกนั้น ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษตามนั้นและห้ามพิจารณาการลงโทษเป็นอย่างอื่น จึงทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวกลายเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ หากไม่ระมัดระวังและไม่มีกลไกที่ดีในการคืนความเป็นธรรมที่เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นได้ โดยในกรณีมูลความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดังกล่าวพนักงานอัยการจะยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต่อศาลยุติธรรม และได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลยุติธรรมให้ยกฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวแล้ว หน่วยงานผู้บังคับบัญชาก็ยังคงไม่มีอำนาจพิจารณาฐานความผิดให้แตกต่างนอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นความผิดประเภทเดียวกันและพยานหลักฐานที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวนั้นเป็นชุดเดียวกัน

          แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาสามารถฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาทบทวนข้อเท็จจริงและตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจชี้มูลความผิดดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง แต่อาจเนิ่นช้าเกินไป ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  มาตรา 99 เพื่อเพิ่มอำนาจผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนให้มีอำนาจพิจารณาได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหานอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยได้ และสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกหรือปลดออกดังกล่าวนี้โดยเร็ว น่าจะเป็นการลดภาระและคืนความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาเป็นอันมาก โดยไม่จำต้องฟ้องให้ศาลปกครองมีคำสั่งอีก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-21