การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สำหรับสินค้าเกษตร: ส่งเสริมหรือลดทอนคุณค่า ของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้แต่ง

  • วริยา ล้ำเลิศ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
  • ภัทรพร เย็นบุตร สำนักเศรษฐกิจดิจิทัล

คำสำคัญ:

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การคุ้มครอง การส่งเสริม การลดทอน

บทคัดย่อ

            บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าเกษตรที่มีความสัมพันธ์กัเป้าประสงค์ของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็นสองแง่มุม คือ แง่มุมในการส่งเสริมหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และแง่มุมอุปสรรคที่ทำให้การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารต่างๆ พบว่าการที่กฎหมายคุ้มครองชื่อเสียงของสินค้านั้น โดยหลักสำคัญเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชุมชนผู้ผลิต ประกอบกับประโยชน์ของสังคมในการได้รับรู้ข้อมูลความเชื่อมโยงคุณลักษณะเฉพาะของสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ที่ผลิต ซึ่งด้วยเหตุที่ชุมชนผู้ผลิตต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงสินค้าเกษตรเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ชุมชนผู้ผลิตตระหนักว่าจะต้อง
ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยการผลิตไปพร้อมกันด้วย ทำให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายแห่งหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสินค้าเกษตรที่กฎหมายคุ้มครองก็อาจเป็นตัวทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยวิธีการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากชุมชนผู้ผลิตยังคงพยายามผลิตสินค้าให้ได้คุณลักษณะเดิมต่อไป การพยายามรักษาคุณลักษณะเฉพาะของสินค้านั้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทำให้เกิดผลร้ายต่อประชาคมโลกได้ ดังนั้น จึงควรสร้างกลไกกฎหมายระหว่างประเทศที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิหรือแก้ไขรายละเอียด
คุณลักษณะเฉพาะในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อไม่ให้การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไปลดทอนคุณค่าหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-23