การศึกษาเพลงร้องเล่นสมัยใหม่ของไทย

ผู้แต่ง

  • โอฬาร รัตนภักดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

เพลงร้องเล่นสมัยใหม่ เพลงพื้นบ้านไทย

บทคัดย่อ

          บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา ประเภท ลักษณะของเพลงร้องเล่นสมัยใหม่ของไทย รวมทั้งวิเคราะห์เพลงดังกล่าวในฐานะเพลงพื้นบ้าน และบทบาทหน้าที่ของเพลงชนิดนี้ด้วย ผลการศึกษาพบว่าเพลงร้องเล่นสมัยใหม่มีพัฒนาการควบคู่มากับความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมเพลงและดนตรีในสังคมไทย โดยมีที่มาจากทั้งเพลงพื้นบ้าน เพลงไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรงุ เพลงปลุกใจ เพลงสตริง เพลงโฆษณา เพลงละครภาพยนตร์หรือการ์ตูน และเพลงสากลเพลงร้องเล่นสมัยใหม่แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ เพลงประกอบท่าทาง เพลงโต้ตอบ เพลงประกอบการเล่นเกม เพลงที่ใช้ในพิธีกรรม เพลงเชียร์กีฬา และเพลงเบ็ดเตล็ด ลักษณะมักเป็นเพลงขนาดสั้น ใช้ถ้อยคำเรียบง่าย มีฉันทลักษณ์ไม่ซับซ้อน เนื้อหามาจากเรื่องราวใกล้ตัว จังหวะและทำนองเน้นความสนุกสนาน วิธีการร้องการเล่นไม่ยุ่งยาก และเพลงหนึ่งอาจมี หลายสำนวน ทั้งนี้เพลงร้องเล่นสมัยใหม่มีวรรณศิลป์ที่เกิดจากเสียงและความหมาย รวมถึงปรากฏวัฒนธรรมท้องถิ่น และนิยมถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ เพลงร้องเล่นสมัยใหม่มีลักษณะบางประการที่คาบเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านของไทย ได้แก่ มักมีขนาดไม่ยาวนัก คำประพันธ์เป็นกลอนหัวเดียว เนื้อหามาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว มักใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมา มีการสร้างความบันเทิงด้วยเรื่องทางเพศ วิธีการร้องการเล่นเรียบง่าย และสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก อนึ่ง เพลงร้องเล่น สมัยใหม่มีบทบาทหน้าที่ให้ความบันเทิง เป็นที่ระบายความคับข้องใจ เป็นสื่อบันทึกและสะท้อนสภาพสังคมวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือในการแสดงออกของหนุ่มสาว และเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22