การก่อตัวและการใช้ข้อบังคับจรรยาบรรณทันตแพทย์

ผู้แต่ง

  • พูนผล โควิบูลย์ชัย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • เสาวภา พรสิริพงษ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ณรงค์ อาจสมิติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

จรรยาบรรณวิชาชีพ / จริยธรรมทันตแพทย์ / วาทกรรมการแพทย์ / ภาพลักษณ์วิชาชีพ / อำนาจทางการแพทย์

บทคัดย่อ

          งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาที่มาของข้อบังคับจรรยาบรรณทันตแพทย์ เพื่อสร้างคำอธิบายว่าจรรยาบรรณก่อตัวขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมทั้งวิเคราะห์การใช้งานในปัจจุบันว่ามุ่งผลประโยชน์ไปที่ผู้ป่วยเป็นหลักหรือไม่ อย่างไร โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่การวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผ่านแนวคิดการวิเคราะห์วาทกรรมของ มิเชล ฟูโกต์
          การศึกษาพบว่า การก่อตัวขึ้นมาของข้อบังคับจรรยาบรรณวิชาชีพ มีวิถีโคจรของประวัติศาสตร์ในลักษณะเฉพาะของตัวเอง เกิดจากการเข้ามาของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการแพทย์เดิมของประชาชนให้อยู่ภายใต้วาทกรรมการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้จรรยาบรรณวิชาชีพนอกจากจะถูกสร้างด้วยลักษณะทางจริยธรรมที่แฝงฝังในหลักการแพทย์สากลแล้ว ยังถูกสร้างขึ้นมาด้วยลักษณะทางจริยธรรมในเชิงประเพณี ตั้งแต่จุดกำเนิดที่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจทางการแพทย์ระหว่างฝั่งกรมสาธารณสุขกับโรงเรียนแพทย์ในการควบคุมกิจการด้านการแพทย์ ไปจนถึงความพยายามควบคุม “หมอจอมปลอม” ที่นำเครื่องมือทางการแพทย์มาให้บริการโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนหวังเพียงทำผลกำไร ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็นระบบจริยธรรมที่ควบคุมตลาดทางการแพทย์ขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเจอกับการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่การควบคุมการเข้าสู่วิชาชีพ ควบคุมตลาดของการบริการ ตลอดจนควบคุมการแก่งแย่งแข่งขันในการประกอบวิชาชีพด้วยการห้ามผู้ประกอบวิชาชีพโฆษณาความรู้ความสามารถตน รวมถึงไม่แย่งผู้ป่วยและทับถมว่าร้ายผู้ร่วมวิชาชีพ
          ดังนั้นการใช้งานของจรรยาบรรณวิชาชีพจึงถูกใช้ในลักษณะที่อิงอยู่กับการจัดการปัญหาทางจริยธรรมแบบจารีตที่มุ่งสร้างเสถียรภาพ เน้นภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของวิชาชีพ ทำให้การรับรู้เรื่องภาพลักษณ์กลายเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจในการเข้ารับบริการ เรื่องของความรู้ที่ไม่เท่ากันระหว่างทันตแพทย์กับผู้ป่วยถูกทำให้พร่าเลือนไป ความสัมพันธ์ระหว่างทันตแพทย์กับผู้ป่วยจึงมีความไม่เท่าเทียมและเป็นความสัมพันธ์ที่เพิกเฉยต่อความเป็นบุคคลที่มีสิทธิตัดสินเรื่องราวในชีวิตตัวเองของผู้ป่วย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22