ญี่ปุ่นในศิลปกรรมไทยโบราณภาพสะท้อนการเรียนรู้โลกของสังคมไทย ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์

ผู้แต่ง

  • วราภรณ์ วิชญรัฐ

คำสำคัญ:

จิตรกรรมฝาผนัง, วัดยม, ภาพญี่ปุ่น, ต้นรัตนโกสินทร์

บทคัดย่อ

          บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ปรากฏ ในศิลปกรรมบางประการ ได้แก่ ในสมุดภาพโบราณ ภาพพิมพ์ไม้ จิตรกรรมฝาผนัง และบางส่วนของสถาปัตยกรรม ซึ่งอาจใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นตั้งแต่ครั้งอดีตได้ และสามารถสะท้อนสังคมไทยถึงการเรียนรู้โลกภายนอกในช่วงเวลาที่ศิลปกรรมเหล่านั้นได้รับการสร้างขึ้น วิธีการวิจัยใช้วิธีทางประวัติศาสตร์ศิลปะด้วยการสำรวจเอกสารและแหล่งที่มีศิลปกรรมได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมุดภาพกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (สมุดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดยม พระนครศรีอยุธยา) แหล่งจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดบางขุนเทียนนอกและนำมาวิเคราะห์
          จากการสำรวจพบว่าในแหล่งที่ศึกษามีความเกี่ยวข้องกับความเป็นญี่ปุ่นในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มีการสร้างเชิงชาย (ปลายสุดของเครื่องบนหรือหลังคา) เทียบได้กับเชิงชายในอาคารแบบญี่ปุ่น การปรากฏรูปชาวญี่ปุ่นซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกองทหารอาสาญี่ปุ่นในจิตรกรรมฝาผนังที่วัดยม วาดในสมัยสมเด็จพระนารายณ ์และในขณะเดียวกันในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการบันทึกรูปเรือสยามและชาวสยาม รูปชาวต่างชาติสิบสองภาษาในศาลารายวัดพระเชตุพนฯ พร้อมโคลงภาพอธิบายลักษณะของชาวญี่ปุ่น และที่บานหน้าต่างวัดบางขุนเทียนนอกที่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ก็ปรากฏรูปชาวญี่ปุ่นเช่นกันซึ่งอาจมีความสัมพันธ์ด้านรูปแบบกับรูปสิบสองภาษาที่วัดพระเชตุพนฯ จิตรกรรมทั้งสองแห่งนี้มีการกำหนดอายุโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะว่าควรวาดขึ้น ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 3
          จากหลักฐานเหล่านี้ สามารถวิเคราะห์ได้สองประการคือ ประการแรกอาจกล่าวได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมสยามและญี่ปุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางการค้า บทบาททางการเมืองของชาวญี่ปุ่นในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งสะท้อนออกมาในศิลปกรรม ประการที่สองจิตรกรรมฝาผนังรูปชาวญี่ปุ่นยังสามารถสะท้อนสภาวการณ์ในสังคมไทยในขณะที่วาดได้แก่การปรับตัวเพื่อเรียนรู้โลกภายนอกนั่นคือการทำความรู้จักกับชาวต่างชาติถึงลักษณะการแต่งกายและบุคลิกลักษณะที่สำคัญของชาวต่างชาติที่ปรากฏเป็นภาพให้ผู้คนได้รู้เห็นและทำความเข้าใจ เนื่องจากสังคมไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นกำลังเปิดสู่โลกภายนอก ความรู้ในเรื่องต่างๆ เป็นความจำเป็นและเกิดการกระจายความรู้สู่คนทั่วไปด้วยการใช้ศิลปะ ซึ่งการเรียนรู้โลกภายนอกนี้ก็มี “ญี่ปุ่น” มาปรากฏในศิลปกรรมไทยเช่นกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22