การประเมินทางเลือกทางเศรษฐศาสตร์กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากการขยายตัวของเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล

ผู้แต่ง

  • อรษา ตันติยะวงศ์ษา คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชา
  • เกวลิน มะลิ คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชา

คำสำคัญ:

การประเมินทางเลือกทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ ความคุ้มค่าในการลงทุน

บทคัดย่อ

          จากวิกฤติการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ปัญหาดังกล่าว ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำและป้องกันน้ำท่วมจึงได้รับการพิจารณาบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ สำหรับเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต่ำเมื่อฝนตกจึงทำให้น้ำจากที่สูงหรือภูเขาไหลลงสู่เมืองนอกจากนี้พื้นที่เมืองยังมีการขยายตัวของสิ่งก่อสร้างที่ไปขวางทางน้ำจึงต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การประเมินทางเลือกทางเศรษฐศาสตร์กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากการขยายตัวของเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บทระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เมืองพัทยา ปีงบประมาณ 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและผลกระทบของน้ำท่วมในพื้นที่เมืองพัทยา 2) วิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมเมืองพัทยาและประเมินทางเลือกที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรทางการเงินที่ใช้ลงทุน การดำเนินงานเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่เมืองพัทยา การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว หลังจากนั้นจึงประเมินมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐกิจที่จะลดลงจากการจำลองเหตุการณ์น้ำท่วมโดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ทางเลือกทางเศรษฐศาสตร์ต่อไป
           ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เกิดจากระบบระบายน้ำธรรมชาติของเมืองถูกบุกรุก และระบบท่อระบายน้ำเดิมมีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับน้ำฝนที่ตกปริมาณมาก ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 3,073 ครัวเรือน สถานประกอบการ 483 แห่ง ระดับน้ำท่วมอยู่ระหว่าง 0.3 - 2 เมตร มูลค่าความเสียหาย 98 ล้านบาทโดยประมาณจากปัญหาดังกล่าวได้ออกแบบทางเลือกจำแนกเป็น 4 แนวทาง เรียงลำดับโดยจำแนกตามผลการประเมินทางเลือกทางเศรษฐศาสตร์จากที่ดีที่สุดไปหาที่น้อยที่สุด คือ 1) ระบบโครงข่ายท่อระบายน้ำรองรับปริมาณฝนรอบการเกิดซ้ำ 5 ปี มูลค่า 2,724 ล้านบาท 2) พื้นที่เก็บน้ำแก้มลิงมูลค่า 3,183 ล้านบาท 3) ระบบโครงข่ายท่อระบายน้ำรองรับปริมาณฝนรอบการเกิดซ้ำ 10 ปี มูลค่า 3,410 ล้านบาท และ 4) อุโมงค์เก็บน้ำใต้ทางลอดถนนสุขุมวิทมูลค่า 5,456 ล้านบาท

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-22