ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรเป้าหมายทางสังคมนโยบาย กับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรนโยบาย: กรณี การต่อสู้เพื่อผลักดันหลักสูตรการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ผู้แต่ง

  • ชัชวินธ์ ตันติเวชวาณิชย์ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทคัดย่อ

บทความชิ้นนี้ได้อธิบายถึง การรวมกลุ่มของตัวแสดงในลักษณะเครือข่ายพันธมิตรนโยบายที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับตัวแสดงภายใต้กรอบแนวคิดการแบ่งกลุ่มประชากรเป้าหมายของสังคมนโยบายของ Schneider และ Ingram (1993) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความได้เปรียบสูง กลุ่มคู่แข่งขัน กลุ่มที่ต้องพึ่งพิง และกลุ่มผู้เบี่ยงเบน โดยผู้เขียนนำกรณีการต่อสู้แข่งขันในเวทีนโยบายจัดทำหลักสูตรการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ 2 เครือข่ายพันธมิตรนโยบายหลัก รวมทั้งอธิบายคุณค่าที่แต่ละเครือข่ายยึดถือ ความเป็นตัวแทนกลุ่มประชากรเป้าหมายของสังคมนโยบาย และยุทธวิธีการต่อสู้ของแต่ละฝ่าย

ผลการศึกษาพบว่า กรณีเครือข่ายพันธมิตรนโยบาย ก. มุ่งเน้นการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเพื่อสนับสนุนแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงและบูรณภาพแห่งรัฐนั้น มีตัวแสดงหลักมาจากประชากรเป้าหมายของสังคมนโยบายที่มีความได้เปรียบสูงเป็นหลัก เช่น ข้าราชการส่วนกลาง ผู้นำในกองทัพ เป็นต้น เครือข่ายนี้มองว่าตนเองเป็นผู้แทนประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องรักษาประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ยึดถือคุณค่าแบบรัฐนิยม และใช้อำนาจต่อรองจากระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในเวทีนโยบาย  ส่วนกรณี เครือข่ายพันธมิตรนโยบาย ข. มุ่งผลักดันการออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ให้การยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีตัวแสดงสำคัญ เช่น ผู้นำท้องถิ่น/ชุมชน ผู้นำศาสนา นักวิชาการศาสนาอิสลาม และผู้นำภาคประชาสังคมในพื้นที่ เครือข่ายนี้ถือว่าตนเองเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้พึ่งพิงในพื้นที่ นั่นคือ นักเรียนและประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยึดถือคุณค่าแบบท้องถิ่นนิยม ใช้ยุทธวิธีการสร้างตัวแทนนโยบายและเจรจาผสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจทางการเมืองในระบบการเมืองที่เป็นทางการของรัฐ ข้อค้นพบสำคัญ คือ เครือข่ายพันธมิตรนโยบาย ข. มีพื้นที่และอำนาจการต่อรองทางนโยบายการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่หลังปี พ.ศ. 2547 จนทำให้สถานะของตนเองสามารถก้าวขึ้นเป็นเป็นกลุ่มคู่แข่งขัน (ใหม่) ในสังคมไทยได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-20