การเปรียบเทียบความสามารถในการประยุกต์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ระหว่างผู้เรียนที่มีแบบการเรียนแตกต่างกันในการทดสอบที่มีการให้ข้อมูลย้อนกลับทันที โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์

ผู้แต่ง

  • ณภาภัช พรหมแก้วงาม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • โชติกา ภาษีผล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศิริชัย กาญจนวาสี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

แบบการเรียน, การให้ข้อมูลย้อนกลับแบบทันที, การทดสอบโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์

บทคัดย่อ

            การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบบการเรียนของผู้เรียนและรูปแบบการให้ข้อมูลย้อนกลับที่มีต่อความสามารถในการประยุกต์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว 2) เปรียบเทียบความสามารถในการประยุกต์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว จำแนกตามแบบการเรียนของผู้เรียนและรูปแบบการให้ข้อมูลย้อนกลับที่แตกต่างกัน กลุ่มทดลองเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม จำนวน 5 ห้อง ห้องที่ 1, 2 ได้รับข้อมูลย้อนกลับบางส่วนโดยการยกตัวอย่าง (PWF) ห้องที่ 3, 4 ได้รับข้อมูลย้อนกลับบางส่วนโดยการชี้แนะ (PDF) และห้องที่ 5 ได้รับข้อมูลย้อนกลับแบบบอกผลของการกระทำ (KOR) ทั้งหมดเป็นจำนวน 126 คน แต่ละกลุ่มประกอบด้วยผู้เรียนที่มีแบบการเรียน (Learning Style) แบ่งเป็น 6 แบบ ได้แก่ แบบอิสระ แบบพึ่งพา แบบร่วมมือ แบบหลีกเลี่ยง แบบแข่งขัน และแบบมีส่วนร่วม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) แบบสอบถามแบบการเรียน2)แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเรื่องการแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว และ 3)แบบทดสอบระหว่างเรียนเรื่องการแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียวที่มีการให้ข้อมูลย้อนกลับทันทีโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง (Two-ways ANOVA)

            ผลการวิจัยพบว่า แบบการเรียนและการให้ข้อมูลย้อนกลับไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันต่อความสามารถในการประยุกต์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว (F = 0.380, Sig. = 0.953) แต่แบบการเรียนส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (F = 3.785, Sig. = .003) ในการเปรียบเทียบความสามารถในการประยุกต์การแก้สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถแบบการเรียนแบบพึ่งพา ต่ำกว่าแบบการเรียนแบบอิสระ แบบแข่งขันและแบบมีส่วนร่วม และค่าเฉลี่ยของคะแนนแบบการเรียนแบบแข่งขัน สูงกว่าแบบการเรียนแบบร่วมมือ แบบหลีกเลี่ยงและแบบมีส่วนร่วม

References

กระทรวงศึกษาธิการ (2553). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.จากัด.

คู่บุญ ศกุนตนาค. (2552). ผลของความสอดคล้องระหว่างแบบการเรียนกับแบบการสอนที่มีต่อความสุขในการเรียนรู้ของนักเรียน. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), สาขาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จุฑาภรณ์ มาสันเทียะ. (2560). การพัฒนาระบบการทดสอบที่มีการให้ข้อมูลย้อนกลับทันทีโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน: การประยุกต์ใช้โมเดลการตอบสนองข้อสอบแบบต่อเนื่องของราสซ์. (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบันฑิต), สาขาการวัดและประเมินทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชวนสิทธิ์สุชาติ (2532). การเปรียบเทียบแบบการเรียนของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา(ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต) กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สิตานนท์ ศรีวรรธนะ. (2556). การศึกษาลีลาการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์. (สารนิพนธ์การสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ)กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Larsen, D.P., Butler, A.C., and Roediger, H.L., III (2009). Repeated testing improves long-term retention relative to repeated study: A randomized, controlled trial . Med Educ, 43, 1174–1181.

Turner, N.M., Scheffer, R., Custers, E., and Cate, O.T. (2011). Use of unannounced spaced telephone testing to improve retention of knowledge after life-support courses . Med Teach, 33, 731–737.

Yunfei, D. and Simpson, C. (2002). Effects of Learning Styles and Class Participation on Students’ Enjoyment Level in Distributed Learning Environments. Journal of Education for Library and Information Science.45(2). 123-136.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-07-12