จริยธรรมการตีพิมพ์วารสารครุทรรศน์ (Online)
1.หน้าที่ของผู้นิพนธ์บทความ
1.1ผู้นิพนธ์บทความต้องลงนามเป็นหลักฐานยืนยันว่าบทความที่เสนอเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่นั้น ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในแหล่งวิชาการอื่น ๆ มาก่อน และจะไม่ตีพิมพ์เผยแพร่ในแหล่งวิชาการอื่น ๆ ซ้ำซ้อน
1.2 ในกรณีที่เป็นบทความวิจัย จะต้องเป็นรายงานวิจัยที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงจากการวิจัย ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลและไม่ให้ข้อมูลเท็จในรายงานการวิจัย โดยพรรณนาเรียบเรียงบทความวิจัยให้ถูกต้อง
1.3 ทุกบทความที่เสนอเพื่อตีพิมพ์ต้องไม่ใช่บทความที่เกิดจากการลักลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามมาตรฐานและหลักวิชาการตามรูปแบบที่วารสารได้กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และคำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์
1.4 บทความจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ตีพิมพ์หลังจากที่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน

2.หน้าที่ของกองบรรณาธิการ
2.1 กองบรรณาธิการจะพิจารณากลั่นกรองความถูกต้องของบทความในเบื้องต้นโดยเฉพาะรูปแบบการทำต้นฉบับและการอ้างอิง เมื่อพบว่า มีจุดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง จะต้องส่งให้ผู้นิพนธ์บทความแก้ไขก่อน
2.2 กองบรรณาธิการจะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามสาขาและเนื้อหาของบทความอย่างน้อย 2 คน เพื่อกลั่นกรองบทความและให้ข้อเสนอแนะอย่างเป็นอิสระ
2.3 กองบรรณาธิการจะไม่เปิดเผยชื่อผู้นิพนธ์บทความและผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายทราบเป็นอันขาด (Double-blond peer review)
2.4 กองบรรณาธิการจะพิจารณาความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิในเบื้องต้นและส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวให้ผู้นิพนธ์เพื่อปรับปรุงแก้ไข
2.5 หลังจากได้รับบทความฉบับแก้ไขจากผู้นิพนธ์แล้ว กองบรรณาธิการจะตรวจสอบการลักลอกผลงานของผู้อื่น และจะอนุมัติให้ตีพิมพ์บทความในกรณีที่มีข้อความซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น ๆ ไม่เกินร้อยละ 20 เท่านั้น ในกรณีที่พบข้อความซ้ำซ้อนเกินกว่านั้น กองบรรณาธิการจะปฏิเสธการตีพิมพ์บทความโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
2.6 กองบรรณาธิการจะส่งบทความฉบับพร้อมเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ให้ผู้นิพนธ์ตรวจสอบก่อน เพื่อให้ยืนยันและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่อไป

3.หน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้ากลั่นกรองบทความ
3.1 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้ากลั่นกรองบทความต้องเก็บความลับเกี่ยวกับการกลั่นกรองบทความไว้โดยไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่น
3.2 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้ากลั่นกรองบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์บทความ เช่น เป็นมาจารย์ที่ปรึกษา หรือไม่มีเหตุใด ๆ ที่ทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้ากลั่นกรองบทความไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ
3.3 หากผู้ทรงคุณวุฒิพบว่า บทความนั้น ๆ เป็นของบุคคลที่ตนรู้จักหรือตนช่วยดูแลในฐานะที่ปรึกษา จะต้องแจ้งกองบรรณาธิการเพื่อยกเลิกการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจบทความนั้น ๆ
3.4 ถ้าผู้ทรงคุณวุฒิพบว่า บทความที่รับตรวจนั้นมีการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนในแหล่งวิชาการอื่น ๆ หรือมีการลักลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบเพื่อดำเนินการตามสมควร