จริยธรรมของการตีพิมพ์

จริยธรรมของการตีพิมพ์ (Publication Ethics)
          บรรณาธิการจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาคุณภาพของบทความ ทุกบทความ 3 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญตรงหรือเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของบทความ และไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้แต่งบทความ ทั้งนี้จะมีรูปแบบที่ผู้พิจารณาบทความไม่ทราบชื่อผู้นิพนธ์บทความและผู้นิพนธ์บทความไม่ทราบชื่อผู้พิจารณาบทความเช่นเดียวกัน (Double-Blind Peer Review)
          ผลการประเมินมี 4 แบบ คือ 1) เห็นควรได้รับการตีพิมพ์โดยไม่ต้องแก้ไข 2) ควรปรับปรุงแก้ไขก่อนการตีพิมพ์ (มอบหมายให้กองบรรณาธิการพิจารณาต่อ) 3) ควรปรับปรุงแก้ไขก่อนการตีพิมพ์ (โดยส่งมาให้พิจารณาใหม่) 4) ไม่สมควรได้รับการตีพิมพ์ ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ จึงได้กำหนดจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสารทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัดตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้

1) จริยธรรมของผู้เขียนบทความ
          1.1) บทความที่ผู้เขียนส่งมาให้บรรณาธิการต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขต หากไม่สอดคล้องตามวารสารกำหนดจะถูกปฏิเสธการรับบทความ
          1.2) ผลงานของผู้เขียนต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
          1.3) ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำข้อความมาใช้ในผลงานของตนเองต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมคือต้องจัดทำเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความของตนเองทุกครั้ง
          1.4) ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในวารสาร
          1.5) ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมารูปแบบมีความถูกต้องตามที่วารสารกำหนด และเป็นผลงานของผู้เขียนและผู้เขียนร่วมที่มีชื่อปรากฏตามที่ระบุไว้จริง
          1.6) ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง
          1.7) ผู้เขียนต้องปรับแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมินบทความอย่างละเอียด เพื่อคุณภาพบทความและมาตรฐานทางวิชาการ หากไม่ปรับแก้ไขอาจถูกปฏิเสธการเผยแพร่ กรณีไม่แก้ไขในประเด็นที่เสนอแนะผู้เขียนสามารถชี้แจงและให้เหตุผลมายังวารสารรับทราบได้
          1.8) ผู้เขียนต้องตรวจสอบรายการอ้างอิงในเนื้อหาและเอกสารอ้างอิงให้ถูกต้องตรงกัน ไม่ควรนำรายการเอกสารอ้างอิงที่ไม่ปรากฏในบทความมาใส่ในเอกสารอ้างอิงท้ายบทความ และควรอ้างอิงจากแหล่งเว็บไซต์เท่าที่จำเป็นไม่มากเกินไป
          1.9) กรณีเป็นบทความวิจัย หากมีการวิจัยในมนุษย์ ผู้เขียนจะต้องแนบหนังสือรับรองที่ได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยในมนุษย์ จากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ และระบุหมายเลขหรือรหัสการรับรองลงในบทความ ในหัวข้อ "ระเบียบวิธีวิจัย" และรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่ปิดบังซ่อนเร้น ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิด

2) จริยธรรมของกองบรรณาธิการ
          2.1) กองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินและคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์
          2.2) กองบรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียน
          2.3) กองบรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
          2.4) กองบรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียน
          2.5) กองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
          2.6) รักษามาตรฐานของวารสารโดยเผยแพร่ตรงเวลา รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยอยู่เสมอ
          2.7) จัดระบบการตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ในบทความอย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ ซึ่งวารสารใช้โปรแกรม Copy Catch ของระบบ ThaiJO โดยกำหนดความซ้ำของผลงานไม่เกิน 15%
          2.8) ติดตามดูแลการเก็บค่า Page charge ตามที่วารสารประกาศไว้อย่างเคร่งครัดและให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส

3) จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ
          3.1) ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลักพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน
          3.2) ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
          3.3) ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง
          3.4) หากผู้ประเมินบทความตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินเป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
          3.5) ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้
          3.6) ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งตีพิมพ์หรือข้อมูลผู้เขียน แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
          3.7) ผลการพิจารณาบทความถือเป็นสิทธิ์ขาดของบรรณาธิการวารสาร
          3.8) ผู้ประเมินบทความสามารถเสนอแนะเอกสารอ้างอิงที่ทันสมัยให้ผู้เขียนนำไปปรับแก้ไขเพิ่มเติมได้