การอธิบายความเรื่องจิตในพุทธศาสนานิกายเซน
คำสำคัญ:
จิต, พุทธศาสนา, นิกายเซนบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวคิดเรื่องจิตในพุทธศาสนาเถรวาทกับพุทธศาสนานิกายเซน และ 2) ศึกษาการอธิบายความเรื่องจิตในพุทธศาสนานิกายเซน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ด้วยการศึกษาพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนาและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า พุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงจิตโดยมุ่งประเด็นเพื่อชำระจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาและอุปาทาน พื้นฐานของจิตเป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา เกิดดับสืบต่อเป็นสันตติ เป็นตัวนำกำหนดพฤติกรรม และเป็นเหตุให้เกิดนามรูป สรรพสิ่งในโลกทั้งรูปและนามไม่มีสิ่งใดมีตัวตนอยู่โดยแก่นแท้ของมันเอง ต้องอิงอาศัยเหตุอาศัยปัจจัย วิธีการปฏิบัติพัฒนาจิตของเถรวาทมีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นระบบ ฝ่ายพุทธศาสนานิกายเซนเห็นว่าโลกไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากจิต การพัฒนาจิตมุ่งตรงสู่ความรู้แจ้ง คือ ซาโตริ ด้วยวิธีการปฏิบัติแบบจิตสู่จิต แต่ไม่มีคำอธิบายวิธีการปฏิบัติเชิงแบบแผน
การอธิบายความของพุทธศาสนานิกายเซนใช้คำและตัวอักษรที่แตกต่างกันแต่ความหมายเหมือนกับเถรวาท เน้นอธิบายความถึงสิ่งสมบูรณ์สูงสุด มุ่งเน้นอธิบายความลัดตรงสู่จิตไม่ว่าแนวคิดนั้นจะเกี่ยวกับอะไร ไม่สนใจอธิบายความที่เป็นข้อปลีกย่อย พุทธศาสนานิกายเซนเน้นปฏิบัติแบบปัญญาวิมุตติ บรรลุแบบฉับพลัน มีเหตุผลเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับคนส่วนใหญ่และวิถีชีวิต แต่ประสบการณ์ทางจิตที่เรียกว่า “ซาโตริ” ถ้าเกิดขึ้นกับใคร ก็เป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเป็นอิสระอย่างแท้จริงของชีวิต
References
จันทรัชนันท์ สิงหทัต. (2539). การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท และมหายานอินเดีย: ศึกษาเฉพาะกรณีพระสูตร พระอภิธรรม และลังกาวตารสูตร. (ปริญญาอักษร-
ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล).
ไดเซ็ต ไตตาโร่ ซูซูกิ. (2553). คัมภีร์มหายานลังกาวตารสูตร [Lankavatara Sutra A Mahayana Text]
(พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ), ผู้แปล). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระอนุรุทธเถระ. (2551). พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 1 จิตปรมัตถ์ (วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสรี, เรียบเรียง) กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์.
พุทธทาสภิกขุ. (2547). คำสอนของฮวงโป. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย. ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง-กรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สม สุจิรา. (2551). ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง. (พิมพ์ครั้งที่ 22). กรุงเทพฯ: สายธุรกิจ.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2546). พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ: ศยาม.
Daisetz T. Suzuki. (1985). Essays in Zen Buddhism. London: Rider.