การศึกษาวัฒนธรรมการให้ในสังคมไทย
คำสำคัญ:
วัฒนธรรม, การให้, สังคมไทยบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการให้ในพระพุทธศาสนา และ 2) ศึกษาวัฒนธรรมการให้ในสังคมไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ด้วยการศึกษาพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนาและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า คนไทยมีแนวคิดรูปแบบการให้ ชอบการเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ช่วยเหลือกันและการให้กัน ทานในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ และทรัพย์สินเงินทองภายนอก (2) ธรรมทาน หมายถึง การให้ในส่วนของจิตใจ เช่น การให้ธรรมะ การให้ความถูกต้องดีงามแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และ (3) อภัยทาน หมายถึง การยกเว้นการประทุษร้ายเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อกัน มีจิตคิดเมตตาในคนและสัตว์ หากผิดพลาดก็ไม่ถือโทษโกรธตอบ นี่เป็นรูปแบบของการให้ทานในสังคมไทยปัจจุบันนี้
วัฒนธรรมการให้ในสังคมไทยในปัจจุบัน คนยังไม่เข้าใจเรื่องการให้ทานในพระพุทธศาสนา ส่วนมากมักเข้าใจว่า การให้ทานคือการถวายทานแก่พระสงฆ์และชอบถวายทานเจาะจงบุคคลเป็นส่วนมาก ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา การให้ทานที่ควรยกย่องคือให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น เพราะทานเป็นธรรมขั้นแรกที่ควรบำเพ็ญ เหมือนอย่างพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ที่ปรารถนาพระสัพพัญญู ก็ต้องบำเพ็ญทานบารมีเป็นข้อแรกก่อน ให้คำสอนเรื่องทานซึมซาบอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชาวไทยที่มักทำบุญเป็นประจำ และเป็นการกำจัดกิเลสภายในจิตใจให้หมดสิ้นไปอีกด้วย การให้ทานแสดงถึงการมีจิตเมตตา
References
ประเวศ วะสี. (2529). พุทธธรรมกับสังคม. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน.
พระมหาอานนท์ ชวนาภิภู (แสนแป้). (2548). การศึกษาเรื่องทานในพระไตรปิฎกที่มีต่อสังคมไทย. (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย).
ฟื้น ดอกบัว. (2539). ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: โสภณการพิมพ์.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2555). มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. (2552). วิธีสร้างบุญบารมี. กรุงเทพฯ: พิมพ์สวย.
อำไพ หมื่นสิทธิ์. (2553). มนุษย์กับสังคม. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.