พุทธวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวสังคมไทยปัจจุบัน
คำสำคัญ:
พุทธวิธีแก้ไขปัญหา, ความขัดแย้ง, ครอบครัวบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวสังคมไทยปัจจุบัน และ 2) ศึกษาหลักพุทธธรรมสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวสังคมไทยปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์
ผลการศึกษาพบว่า บริบทครอบครัวไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในครอบครัว และปัจจัยแวดล้อมในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สรุปปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวไทย ได้ดังนี้ 1) นิสัยทัศนคติส่วนตัว 2) บุคคลในครอบครัวไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง 3) ปัญหาการนอกใจ และ 4) ปัญหาความยากจน
หลักพุทธธรรมสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งของครอบครัวนั้น ประกอบด้วย หลักสมชีวิธรรม 4 หลักพรหมวิหาร 4 หลักฆราวาสธรรม 4 หลักสังคหวัตถุ 4 หลักกุลจิรัฏฐิติธรรม 4 หลักทิศ 6 และอริยสัจ 4 ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวมีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมของมนุษย์โดยรวม 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ต้องแก้ด้วยหลักธรรมสัมมาทิฏฐิ ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คุณค่าจากการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรม เช่น คุณค่าด้านบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ก็คือการที่สมาชิกแต่ละคนต่างลงมือประพฤติปฏิบัติตนตามบทบาทหน้าที่ของตนให้ดี ถูกต้องและสมบูรณ์ตามแนวทางพระพุทธศาสนา หากทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ ก็จะช่วยให้ชีวิตในครอบครัวมีความอบอุ่น มีความราบรื่น และเป็นสุข
References
จรัญ พรหมอยู่. (2526). ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
พระครูนิภาสธรรมาธิมุต (อำพร ปริมุตฺโต). (2543). การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวตามหลักธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท. (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย).
พระมหาภาษิต สุภาสิโต (สุขวรรณดี). (2542). ชีวิตในอุดมคติตามทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท.(วิทยานิพนธ์ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย).
พระวรวรรษ ธมฺมทินฺโน (มีกุล). (2561). วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวตามหลักพุทธธรรม. (วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย).
ภัสสร ลิมานนท์. (2541). บทบาทของผู้ชายกับปัญหาครอบครัวไทยในปัจจุบัน. วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 43(3), 258-265.